Tofu Shop

“…หากเป็นอย่างนี้ ผมไปขายเต้าฮวยดีกว่า”

คำพูดข้างต้นดูจะกลายเป็นวลีติดปากผมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา …พูดบ่อยพูดซ้ำจนกระทั่งคนรอบตัวรวมถึงนักศึกษาที่ผมเคยสอนต่างพากันจดจำและคิดเป็นจริงเป็นจังว่า ในวันหนึ่งผมจะเปิดร้านขายเต้าฮวยจริง ๆ

อันที่จริงแล้วคำพูดดังกล่าวมีที่มาจากอาจารย์ของผมซึ่งท่านมักจะพูดเวลาหงุดหงิดรำคาญใจต่อแวดวงวิชาการ อาทิ ยามท่านรู้สึกเบื่อหน่ายต่อวงการนี้ที่ไม่ช่วยกันสร้างบรรยากาศให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ใหม่ หรือขวนขวายต่อการศึกษาวิจัยในประเด็นต่าง ๆ ที่ถูกมองข้ามและยังมีช่องว่างอยู่มาก ท่านก็มักเปรยว่า หากเรายังทำงานกันเฉื่อยชาเช่นนี้ “…ผมลาออกไปขายเต้าฮวยดีกว่า”

ผมได้ยินบ่อยได้ยินซ้ำจนเริ่มจะติดเอามาใช้บ้าง แต่ประเด็นก็คือ …ผมดันชอบเต้าฮวยจริง ๆ …ชอบเอามากเสียด้วย

ก็ไม่รู้ด้วยเหตุอะไรที่ผมชอบเต้าฮวยเป็นพิเศษ จำได้ว่าตอนเด็ก ๆ เวลาพวกเราเหล่าลูกพี่ลูกน้องมาอยู่รวมกัน ณ บ้านของป้าย่านลาดพร้าวตอนปิดภาคฤดูร้อน พอตกค่ำกิจกรรมรวมหมู่ที่พี่ใหญ่ของพวกเรามักทำหลังกลับจากทำงาน คือ พาเหล่าน้อง ๆ ไปหาอะไรทาน ณ ตลาดโชคชัยสี่ …หลังเสร็จจากของคาวก็ต้องตามด้วยของหวาน ตัวเลือกครั้งนั้นก็มี 2 ข้อ นั่นคือ เต้าทึง กับ เต้าฮวย …แน่นอนว่าประชากรส่วนใหญ่ย่อมจะเลือกข้อแรกเพราะมันหวานและเย็น แถมมีเครื่องเคราให้เลือกมากมาย …แก๊งเต้าทึงก็จะมีพี่ใหญ่ของเรานำทีมพาไป ส่วนพี่รองซึ่งชอบของร้อนอย่างเต้าฮวยกลับมีผมเป็นสมาชิกร่วมทีมเพียงคนเดียว

และความชอบในเต้าฮวยก็ไม่ได้หมายถึงว่า ผมจะต้องตามล่าหาเต้าฮวยมารับประทานให้ได้ทุกวัน …แต่มันเป็นความชอบลึก ๆ ในใจซึ่งหาสาเหตุไม่ได้ …เพียงแต่หากเดินทางผ่านไปที่ไหนและพบเห็นร้านขายเต้าฮวย ผมก็ต้องนึกอยากรับประทาน

ส่วนหนึ่งอาจเพราะผมรู้สึกว่า เต้าฮวยเป็นอาหารที่อบอุ่น …เป็นของทานที่ชวนให้คิดถึงบ้าน …ความหอมของเต้าหู้นิ่ม ๆ และความหวานปนเผ็ดร้อนของน้ำขิงมักทำให้ผมนึกถึงวัยเด็ก …ผมเป็นเด็กไม่แข็งแรง ป่วยไข้อยู่บ่อย ๆ จากโรคภูมิแพ้ ทั้งอากาศและฝุ่น …และการได้ทานเต้าฮวยก็ช่วยผมได้มาก …อาการคันจมูกฟุดฟิดและลุกลามเป็นน้ำมูกไหล ต่อด้วยไข้ขึ้นนั้น การได้ทานน้ำขิงหอม ๆ ร้อน ๆ มันช่วยให้จมูกโล่งขึ้นมาก ส่วนเต้าฮวยนิ่ม ๆ ก็ทำให้รู้สึกดีอย่างน่าประหลาด

สมัยเรียนปีหนึ่ง ณ ศูนย์รังสิต ผมพักอาศัยอยู่กับญาติแถว ๆ “ตลาดใน” ย่านรังสิต หลังกลับจากเรียนผมก็มักจะเอาจักรยานไปปั่นเล่น ผ่านไปเห็นร้านขายเต้าฮวยของอาเฮียและอาซ้อตั้งอยู่ข้างทาง ผมก็แวะรับประทานเป็นประจำ นั่งคร่อมจักรยานพร้อมกับรับถ้วยเต้าฮวยร้อน ๆ …ตักกินไปเหงื่อก็แตกไปด้วยความร้อน

ครั้งย้ายเข้าไปเรียนท่าพระจันทร์ ผมก็มักอาศัยรถ ปอ.44 จากย่านสะพานควายเพื่อไปเรียน ครั้งหนึ่งระหว่างทางที่รถแล่นผ่านย่านตลาดสะพานขาว ผมก็เหลือบเห็นร้านเต้าฮวยขายอยู่ด้านหน้าตลาด …ด้วยความที่รถติดมาก ผมก็ลงจากรถเมล์ไปนั่งซดเต้าฮวยร้อน ๆ หน้าตาเฉย …และหลังจากนั้นก็มักจะแวะทานเป็นประจำ …จำได้ว่าร้านนั้นจะขายรังนกคู่กันด้วย …ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมร้านขายเต้าฮวยมักจะขายรังนกราวกับของคู่กัน

…นึกไปนึกมาก็พบข้อสังเกตอีกประการว่า คนขายเต้าฮวย (สมัยนั้น) มักจะเป็นคนไทยเชื้อสายจีน มีบุคลิกหน้าตาดูอบอุ่น ใจเย็น และดูใจดี (ในสายตาผม) …ไม่ค่อยพบเห็นคนขายเต้าฮวยขึ้โวยวายและอารมณ์ร้อน

ส่วนโรงอาหารธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ฝั่งตรงข้ามคณะรัฐศาสตร์ซึ่งเราเรียกกันติดปากว่า “โรงอาหารเสด” (ย่อมาจากโรงอาหารใต้ตึกคณะเศรษฐศาสตร์) ที่บรรยากาศแสนจะมืด ๆ ทึม ๆ ก็จะมีร้านเต้าฮวยขายอยู่ด้วย …คนขายเป็นสุภาพสตรีดูใจดีและน่ารัก ใส่แว่นสายตากรอบกลม ๆ สีดำอันใหญ่ ๆ มีหม้อและกระบะไม้ใส่ของวางเรียงราย ขนาบด้วยโหลแก้วขนาดใหญ่ที่บรรจุไว้ด้วยปาท่องโก๋ทอดอยู่แน่นเต็ม …แน่นอนว่า ผมเองฝากตัวเป็นลูกค้าประจำ

หลังเรียนหนังสือจบผมก็ไม่ค่อยได้ทานเต้าฮวยบ่อย ๆ เหมือนเคย …และร้านเต้าฮวยเองก็ดูเหมือนจะค่อย ๆ หายไปจากสังคมไทย …คนรุ่นใหม่คงชอบไอศกรีมหรือขนมรูปแบบใหม่ ๆ มากกว่า อาหารการกินที่เคยนิยมในยุคสมัยหนึ่งก็ค่อย ๆ หายไปในอีกยุคสมัยหนึ่ง …เต้าฮวยก็ไม่ต่างจากข้าวเหนียวสังขยา ขนมหรือของทานเล่นจำนวนมาก มันค่อย ๆ หายไป …ส่วนที่ยังมีขายอยู่บ้างก็ไม่เหมือนกับยุคเก่าก่อน …คือแค่ทำขายไปอย่างนั้น เต้าหู้ก็เหมือนกับเจลลาตินสำเร็จรูป น้ำขิงก็เหมือนกับน้ำหวาน ส่วนปาท่องโก๋ทอดก็เหม็นหืนน้ำมัน …มันขาดแคลนจิตวิญญาณของเต้าฮวยซึ่งมีความอบอุ่นจากความหอมและร้อนในน้ำขิง มีความนุ่มนวลจากรสสัมผัสของเต้าหู้นิ่ม ๆ และความสดชื่นจากน้ำตาลทรายแดงที่นอนก้นบนชามเซรามิคแตกลายงา (ว่าไปนั่น)

…เต้าหู้สีขาว ๆ และนุ่มนวลดูจะหายไปจากชีวิตผมอยู่หลายปี …และมันก็กลับมาอีกครั้งตอนผมต้องไปเรียนหนังสือที่ญี่ปุ่น

แม้นว่าอู่วัฒนธรรมเต้าหู้จะมาจากจีน …แต่วัฒนธรรมเต้าหู้ในญี่ปุ่นก็แข็งแกร่งไม่แพ้กัน …เต้าหู้นับเป็นอาหารที่ยังคงได้รับความนิยม เป็นอาหารในชีวิตประจำวันที่ปักหลักอย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน แถมยังถูกพัฒนาให้สื่อสารกับคนรุ่นใหม่ ๆ ได้อย่างหลากรูปหลากรสและน่าตื่นตาตื่นใจ

ในระยะปีแรกที่ผมอาศัยอยู่บนภูเขาย่านสุมิโยชิ (Sumiyoshi) ก็มักจะต้องมาแวะเปลี่ยนรถเมล์และจับจ่ายซื้ออาหารแถว ๆ สถานีรถไฟฮันชิน-มิคาเกะ (Hanshin Mikage) ซึ่งนับเป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่ง มีร้านรวงมากหลายกระจายตัวรอบสถานีรถไฟ ห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาเก็ตก็มีอยู่ไม่น้อย แต่ผมชอบไปเดินย่านตลาดเก่าตามแนวถนนใต้รางรถไฟ …แม้ว่าร้านรวงจะดูเงียบเหงา จำนวนไม่น้อยก็ปิดตัวไปมาก ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นผู้สูงอายุหรือลูกค้าประจำที่คุ้นเคยกับเจ้าของร้าน …แต่ร้านหนึ่งที่ยังคงคึกคักและกิจการยังไปได้ดีก็คือ ร้านขายเต้าหู้ …เป็นร้านเล็ก ๆ มีกระบะอลูมิเนียมอันใหญ่บรรจุน้ำใส ๆ อยู่เต็ม โดยมีเต้าหู้สดสีขาว ๆ ก้อนใหญ่ ๆ วางเรียงรายนอนก้นเพื่อรอหยิบจับใส่ถุงให้เหล่าลูกค้าประจำ …มันเป็นเต้าหู้แห่งความทรงจำจริง ๆ …หลังจากลองซื้อมารับประทานเป็นครั้งแรก ผมแทบจะน้ำตาไหล (…นี่ก็เกินไป) มันนุ่ม มันหอม มันมีรสสัมผัสที่บอกไม่ถูก …ไม่ต้องใส่อะไร เพียงแค่ตักทานแบบทื่อ ๆ ตรง ๆ มันก็งดงามตามท้องเรื่อง

ในยามเข้าฤดูใบไม้ร่วงแรกของชีวิตการเรียนที่นั่น ผมมีโอกาสได้ไปเที่ยววัดธารน้ำใส (Kiyomizu-dera) ณ เมืองเกียวโต …หลังจากเดินชมความงามของสถาปัตยกรรมไม้ที่น่ามหัศจรรย์ สลับกับการชื่นชมความงามของการจัดสวน ใบไม้ที่หลากสี และเหล่าตะไคร่น้ำที่ยังเขียวชอุ่มอยู่ตามโคนไม้และก้อนหิน …ผมและเพื่อนชาวญี่ปุ่นก็เดินลงมาตามแนวไหล่เขา และพักเหนื่อยด้วยการแวะร้านข้างทางที่สร้างกระท่อมไม้ไผ่ยกพื้นแบบง่าย ๆ ให้เราเข้าไปนั่งนอนคลายความเมื่อยล้า …เมนูหลักของร้านแห่งนี้มีเพียงเต้าหู้แสนนุ่มนิ่ม ราดด้วยซุปใสร้อน ๆ จัดวางมาบนชามเซรามิคสีสวย และมีชาอุ่น ๆ หอม ๆ จิบคู่เคียงกัน …มันบรรเจิดมาก

…คงนึกภาพได้ไม่ยากว่า สามปีของการร่ำเรียน ณ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ผมลุ่มหลงในเต้าหู้มากขนาดไหน

กลับมาเริ่มทำงาน ณ เมืองไทยเมื่อสิบปีก่อน เต้าหู้ก็หายไปจากชีวิตผมอีกครั้ง …จะโผล่มาบ้างก็ยามที่ผมมีโอกาสกลับไปญี่ปุ่น หรือไม่ก็พบร้านอาหารจีนหรือร้านอาหารญี่ปุ่นบางร้านในไทยที่ทำเต้าหู้ได้ดีและอร่อย …แต่การหาเต้าหู้หรือเต้าฮวยดี ๆ นั้น ก็ไม่ง่ายเหมือนเก่าก่อน

…กระทั่งเมื่อประมาณสามปีก่อน (มั้ง) อาจารย์ที่เคารพรักของผมก็ชักชวนเหล่าบรรดาสานุศิษย์ไปรับประทานอาหารค่ำร่วมกัน ณ โรงแรมแห่งหนึ่งย่านรัชดาภิเษก …โรงแรมแห่งนี้นับเป็นโรงแรมเก่าแก่ (เก่าเฉพาะในย่านรัชดาฯ แต่อาจอายุไม่มากเมื่อเทียบกับโรงแรมในย่านอื่น ๆ) …แม้ว่าอาหารบุฟเฟ่ของโรงแรมนี้จะมีกุ้ง ปู หรืออาหารอื่น ๆ ที่ชวนตื่นตาตื่นใจตามประสาบุฟเฟ่สไตล์ …แต่ความดีงามของโรงแรมนี้กลับเป็นอาหารในแบบเก่า ๆ …เป็นข้าวต้มจืดธรรมดา ๆ ที่มีอาหารประกอบในแบบจีนที่หารับประทานได้ยากแล้วในยุคปัจจุบัน …คืออาหารลักษณะนี้ยังหาทานได้ในร้านข้าวต้มทั่วไป แต่การปรุงและรสชาติแบบโรงแรมแห่งนี้มันหาได้ยากแล้ว …มันเป็นรสชาติของวัยเด็กที่ผมหลงลืมไปนาน …มันดีจริง ๆ

แต่ไฮไลท์ของงานนี้อยู่ที่ซอกมุมหนึ่งของแนวโต๊ะที่จัดวางอาหารไว้เรียงราย …ณ ปลายสุดของเคาเตอร์อาหาร ผมเหลือบเห็นถังไม้สึดำ ๆ ขนาดใหญ่มีฝาปิดโลหะวางอยู่ด้านบน พอเปิดออกก็มีควันจาง ๆ ลอยออกมา …มันคือเต้าหู้สด ๆ สีขาวนวล ผมรีบหยิบทัพพีไม้ตักมันใส่ชาม …ข้าง ๆ กันผมก็หยิบกระบวยตักน้ำขิงหอมกรุ่นเติมเข้าไป …ถัดออกไปมีชามใส่น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลทรายขาว และไซรัปวางไว้ให้เราเลือกความหวานในแบบที่เราชอบ และระดับความหวานที่เราเลือกได้เอง

…จบ

Tuesday, August 27, 2019: 11.00@Bangplub

Generation Gap or Centreless Society?

ระยะสองสามปีที่ผ่านมา ผมค่อย ๆ เกิดความรู้สึกหนึ่งที่ชักจะรุนแรงขึ้นทุกวันและก็ได้เอ่ยเปรยกับเพื่อนร่วมวิชาชีพในหลายวาระ นั่นคือ “ผมชักจะไม่ค่อยเข้าใจเด็ก (นักศึกษา) มากขึ้นทุกวัน”

โปรดอย่าเข้าใจผิด คำเปรยข้างต้นมิได้เกิดขึ้นบนฐานของการพร่ำบ่นที่ผู้ใหญ่มักจะใช้เชิงตำหนิแก่เด็กรุ่นใหม่วัยอ่อนกว่าตนในทำนอง “เด็กสมัยนี้ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ทำไมถึงทำอย่างนั้น …ไม่เหมือนสมัยก่อน…” …ตรงข้าม คำเปรยของผมเกิดจาก “ความไม่เข้าใจ” จริง ๆ หมายความว่า ผมอยากจะรู้และอยากจะเข้าใจถึงความนึกคิด วิถีชีวิต ความคาดหวัง ฐานคติ และแบบแผนการใช้ชีวิตต่าง ๆ ของเขาเหล่านั้นด้วยความอยากรู้จริง ๆ …แต่ผมก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี

ระยะหลังผมจึงสนุกกับการมีโอกาสได้นั่งพูดคุยสนทนากับเหล่านักศึกษาปริญญาตรี และใช้โอกาสที่พอมีทั้งในและนอกชั้นเรียนสำหรับยิงคำถามต่าง ๆ เพื่อสนองความกระหายใคร่รู้ของตน

ตอนเริ่มอาชีพงานสอนใหม่ ๆ ซึ่งช่วงวัยระหว่างผมและผู้เรียนมีช่องว่างแตกต่างกันไม่มากนัก ผมจึงรู้สึกเป็นพวกเดียวกับเขาเหล่านั้น ไม่รู้สึกถึงความแตกต่างมากมายนัก หรือหากจะต่างอยู่บ้าง ผมก็พอจะทำความเข้าใจถึงความต่างที่เกิดขึ้นและลักษณะร่วมบางประการที่ปรากฏเด่นชัดในกลุ่มเด็กนักศึกษา

เพื่อนร่วมวิชาชีพคงพอนึกภาพออกว่า ในฐานะคนสอนหนังสือ กลุ่มคนที่เราต้องมีปฏิสัมพันธ์ด้วยนั้นก็มักจะอยู่ในช่วงวัยซึ่งคงที่ อาทิ หากสอนเด็กปริญญาตรี ช่วงวัยของคนเหล่านี้ก็จะอยู่ในราว 18 – 22 ปีโดยประมาณและอาจจะบวกลบนิดหน่อย …แต่ผู้สอนน่ะสิ อายุมันไม่คงที่…มีแต่เพิ่มมากขึ้น (แปลว่า เด็กอายุเท่าเดิม แต่คนสอนแก่ขึ้นทุกวัน) จึงทำให้ช่องว่างระหว่างวัยหรือ Generation Gap ระหว่างนักศึกษากับผู้สอนอย่างผมมันถ่างออกมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามปีที่ผันผ่าน

อาการไม่เข้าใจเด็กรุ่นใหม่นั้น ตอนแรกผมก็คิดว่ามันเป็นเรื่อง Generation Gap …แต่หลังจากสนทนากับเพื่อนร่วมวิชาชีพในตอนบ่ายแก่ ๆ วันนี้ ผมก็กลับมาขบคิดอย่างจริงจัง และในระหว่างขับรถกลับบ้านตอนค่ำหลังเลิกชั้นเรียน (ซึ่งในหัวก็ยังเอาแต่คิดเรื่องดังกล่าว) ผมก็ได้คำตอบขั้นต้นในใจ …คือผมก็ยังไม่เข้าใจเด็กรุ่นใหม่อยู่ดี แต่คำตอบที่ผมได้ ณ ตอนนี้ก็คือ ความไม่เข้าใจของผมนั้น มิได้เกิดจาก Generation Gap

…เหตุเพราะช่องว่างระหว่างวัยนั้นมันควรจะเกิดจากอาการของคนวัยหนึ่งที่ติดยึดในวิธีคิดและวิถีชีวิตของตน และไม่อาจ (หรือไม่ยอม) จะทำความเข้าใจถึงความต่างที่เกิดขึ้นในสิ่งเดียวกันนี้ของกลุ่มคนรุ่นอื่น ๆ …แต่กรณีผมมันตรงกันข้าม คือผมพยายามจะเข้าใจ แต่ก็มันเข้าใจไม่ได้สักที …กับดักที่ทำให้ผมหลงทางในการทำความเข้าใจเด็กรุ่นใหม่มันอาจเกิดจากการที่ผมพยายามจะแสวงหา “ลักษณะร่วมของ Generation” มากจนเกินไป นั่นคือ ความไม่เข้าใจของผมน่าจะมีที่มาจากสภาวการณ์ปัจจุบันที่เด็กใน Generation ใหม่ ๆ นั้นอาจไม่มีลักษณะร่วมที่ปรากฏเด่นชัดก็เป็นได้ หากแต่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย

ความคิดหนึ่งที่โผล่ขึ้นมาระหว่างขับรถก็คือ สถานการณ์หนึ่งที่เป็นฐานคิดของมโนทัศน์ในแบบ “Governance” ที่ผมใช้สอนนักศึกษาทั้งในชั้นเรียนตอนบ่ายและยามค่ำวันนี้ นั่นคือ “สภาวะสังคมไร้ศูนย์กลาง” หรือ “Centreless Society” เมื่อเอามาปรับประยุกต์ใช้กับประเด็นนี้ มันอาจจะช่วยคลำหาคำตอบก็เป็นได้

หากจะนับไปผมเองนั้นจัดอยู่ในกลุ่ม Generation X ซึ่งเข้าสู่วัยรุ่นและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในระยะปลายทศวรรษที่ 1980 – 1990 ระยะนั้นสถาบันหลักและกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ที่มีบทบาทในการ “กล่อมเกลา” ความนึกคิดร่วมนั้นยังปรากฏอยู่อย่างเด่นชัด ด้วยเพราะ ณ เวลานั้นสถานีโทรทัศน์ก็มีไม่กี่ช่อง …หนังสือพิมพ์หลัก ๆ ก็มีไม่กี่หัว …ค่ายเพลงใหญ่ ๆ ก็นับนิ้วได้ …”ไอดอล” ต้นแบบทั้งในไทยและต่างประเทศก็มิได้หลากหลายนัก …ไม่นับสถาบันหลักทางสังคมอื่น ๆ ที่ยังมีบทบาทเข้มแข็งในการชี้นำทิศทางแก่ผู้คนในสังคม

ขณะเดียวกันความต่างที่เกิดระหว่างคน Gen. X กับยุคก่อนหน้าและยุคหลังที่ตามมาติด ๆ ก็เป็นเพียงความต่างที่เกิดจาก “Contents” ของการกล่อมเกลาทางสังคมที่เปลี่ยนไป แต่โครงสร้างหลักในการสร้างวิธีคิดและวิถีชีวิตร่วมยังคงปรากฏลักษณะรวมศูนย์เหมือนเดิม

แต่ในยุคนี้ที่เข้าสู่ทศวรรษที่สองของศตวรรษที่ 21 อาการ “สภาวะสังคมไร้ศูนย์กลาง” ได้ปรากฏอย่างรอบด้านและเด่นชัดในทุกมิติ …และการถกเถียงพูดคุยในประเด็นนี้ร่วมกับนักศึกษาผมมักจะยกตัวอย่างผ่าน “การเสพบทเพลง”

…คือคนรุ่นผมนั้นแบบแผนการเสพบทเพลงก็จะมักเริ่มต้นจากอิทธิพลของ “สื่อมวลชน” ผ่าน “มิวสิควิดีโอ” ในสถานีโทรทัศน์หรือ MTV รวมถึงผ่าน “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่คอยแนะนำบทเพลงใหม่ ๆ ผ่านโทรทัศน์ (อย่างรายการ “บันเทิงคดี” ของคุณมาโนช พุฒตาล) …ผ่านวิทยุ  (แนวอินดี้ของคุณวาสนา วีระชาติพลี) …หรือผ่านนิตยสาร (อย่าง Music Express) จากนั้นก็เก็บเงิน เดินไปร้าน “Music Store” ที่ขาย Cassette Tape หรือ Music CD เพื่อเอามานอนเสพผ่าน Walkman หรือชุดเครื่องเสียง Combo

…แน่นอนว่า ตัวอย่างข้างต้นมันอาจเป็นลักษณะร่วมของ “เด็กมหา’ลัย” ทั่วไปที่พยายามจะทำตัวเป็น “เด็กแนวที่ไล่ตามเทร็นด์” (ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการไล่ตามกระแสในโลกตะวันตก) แต่อาจมีกลุ่มอื่น ๆ ร่วม Generation ที่อาจชอบเสพเพลงลูกทุ่ง เพลงเพื่อชีวิต และอื่น ๆ …แต่โดยภาพรวมพวกเราก็ยังถูกจัดวางอยู่บนโครงสร้างของกระบวนการกล่อมเกลาที่เหมือนกันและรวมศูนย์ (ขนาดกลุ่มเพลงใต้ดิน ผมว่าก็ยังรวมศูนย์ ไม่ได้แตกต่างหลากหลายเท่าใดนัก) ต่างกันแต่เพียงในเชิง “Contents” ที่แสดงออกผ่านเพลงที่เลือกเสพ และลามไปถึงลักษณะการแต่งตัวและการแสดงออกในทางอื่น ๆ (ในยุคผมแค่เห็นการแต่งตัวและท่าทีบางอย่างก็เดาได้ว่า คนนี้เป็น “เด็กเพื่อชีวิต” หรือคนนี้เป็น “เด็กแนว Pop หวานแหวว” …คือ มันพอจะดูกันออก)

…กรณีการเสพบทเพลง ผมมักจะใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งเพื่อเข้าใจเด็กรุ่นใหม่ ๆ โดยตั้งคำถามในทำนองว่า “ตอนคุณตัดสินใจเลือกฟังเพลง คุณทำอย่างไร?” คำตอบนั้นน่าสนใจมาก ๆ …เพราะคิดกลับไปกลับมา “การตัดสินใจ” ของคนรุ่นนี้มิได้อยู่บนฐานคิดของ “การเลือกซื้อ” เหมือนคนรุ่นผม เด็กรุ่นนี้ไม่ต้องนั่งเก็บสตางค์เพื่อเดินไปซื้อ Cassette Tape ราคา 60 – 100 บาท หรือแผ่น Music CD ราคา 350 – 600 บาท (กว่าจะตัดสินใจก็ต้องกลับไปหารือกับเหล่า “ผู้เชี่ยวชาญ” ทั้งนักจัดรายการโทรทัศน์ ดีเจวิทยุ หรือคอลัมนิสต์ทางนิตยสาร) …หากแต่เขาสามารถ “ลองฟังไปเรื่อย ๆ” ผ่าน YouTube หรือ Spotify หรือช่องทาง Online อื่น ๆ ที่มีอยู่อย่างหลากหลายและระบุสัญชาติหรือแหล่งที่มาไม่ได้ …นั่นคือ “สื่อ” มันหลากหลายจนแทบจะหาความเป็น “มวลชน” ไม่ได้อีกต่อไป

ความ “ไม่เข้าใจ” ของผมมันจึงอาจเกิดจาก “ความหลากหลาย” ที่ปรากฏของเด็กรุ่นใหม่ซึ่งมิได้จำกัดเฉพาะมิติด้านการเสพบทเพลง แต่มันกินความถึงเรื่องวิธีคิด วิถีชีวิต ความนึกคิดที่มีต่อชีวิต ความคาดหวังในอนาคต อาหารการกิน การแต่งตัว การแสดงออกในชั้นเรียน วิธีการให้เหตุให้ผล ฯลฯ

…ชักจะยาวเกินไป …เอาเป็นว่า ตอนนี้ผมเริ่มจะใจชื้นขึ้นมานิดนึง และคิดว่าพอจะคลำทางต่อไปได้ …สรุปว่า หากอยากจะเข้าใจคนรุ่นใหม่ เราต้องเริ่มต้นด้วยการหลีกเลี่ยงการแสวงหาลักษณะร่วมของคนส่วนใหญ่ แต่ต้องนับหนึ่งจากการสังเกตให้เห็นถึงความหลากหลายที่ปรากฏ และค่อย ๆ คลำต่อว่า แรงผลักและพลังขับเคลื่อนให้เกิดสภาวะของความหลากหลายดังกล่าว มันเกิดจากอะไรได้บ้าง

…เรื่องทั้งหมด มันเกิดมาจากนักศึกษาคนหนึ่งที่มักจะชอบมานั่งสนทนากับผมพร้อมกับสูบบุหรี่บริเวณ “คอมมอนร้อน” …นักศึกษาคนนี้มาจากภาคใต้ เป็นลูกหลานคนไทยเชื้อสายจีน …บางวันแต่งตัวเรียบร้อย บางวันแต่งตัวเหมือนฤษี …เป็นคนสุภาพน่ารัก แต่ก็มักตั้งคำถามแรง ๆ และกวนตีนในบางโอกาส …มันสนใจปรัชญาและประวัติศาสตร์ แต่ก็ชอบความน่ารักคิกขุและความทันสมัยในแบบญี่ปุ่น …มันดู Conservative ในบางเรื่อง แต่มันก็ Radical ในหลายเรื่อง …คือมันเป็นอะไรของมันอีกมาก …ผมคิดถึงมัน

Wednesday, August 21, 2019: 10.20@Bangplub

Me and My Computer: Typing and Writing

ระยะครึ่งหลังของทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา การเข้ามาของคอมพิวเตอร์ในระดับผู้ใช้ทั่วไปเริ่มจะแพร่หลายมากขึ้น และทักษะการใช้คอมพิวเตอร์และโปรแกรมประยุกต์ต่าง ๆ เริ่มกลายเป็นสิ่งจำเป็น ด้วยเหตุนี้ ความจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องคอมฯ ไว้ประจำบ้านดูจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าราคาโดยรวมในห้วงเวลานั้นจะถือว่าสูงเอาการ

ผมเองก็เติบโตในยุคที่เพื่อนร่วมรุ่นและผู้คนร่วมสมัยต่างพูดถึงความจำเป็นดังกล่าว แต่ด้วยราคาร่วมครึ่งแสนคงมิใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงได้ ผมเองนั้นให้ความสนใจและพอจะมีทักษะการใช้งานพื้นฐานอยู่บ้าง รวมถึงมีโอกาสใช้งานเครื่องของเพื่อนและใน Lab ของทางมหาวิทยาลัย แต่ถึงที่สุดผมก็หาเหตุหาผลให้กับตนเองไม่ได้ว่า ผมจะใช้ประโยชน์จากเครื่องคอมฯ ในด้านใดได้บ้าง

ผมเองพอทราบว่ามันทำอะไรได้มากมาย แต่ในแง่ความต้องการและความจำเป็นส่วนตัวผมยังมองไม่ค่อยเห็นว่า คอมฯ หนึ่งเครื่องจะสามารถสนองตอบความต้องการในชีวิตของผมในด้านใดได้บ้าง หากพิจารณาในแง่การเรียน ผมก็เรียนเฉพาะโปรแกรมประยุกต์สำหรับการวิจัยซึ่งก็สามารถใช้ Lab ของทางมหาวิทยาลัยได้ แต่ในแง่ของการทำงานอื่น ๆ ผมกลับมองไม่เห็นประโยชน์นอกเหนือจากการพิมพ์งานและการเล่นเกมส์ ดังนั้น การลงทุนกว่าครึ่งแสนเพื่อกิจกรรมเพียงแค่นี้คงไม่สมเหตุสมผลเป็นแน่

แต่ในช่วงปีแรก ๆ ของการเรียนปริญญาโทผมก็เริ่มเห็นความจำเป็น ขณะเดียวกันราคาของคอมฯ ก็เริ่มลดลงในระดับที่พอจะยอมรับได้สำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ในระยะแรกของการใช้งานคอมฯ เครื่องแรกในชีวิตก็ต้องยอมรับว่า นอกเหนือจากการใช้พิมพ์งาน การเก็บข้อมูลประกอบการเรียน และการเล่นเกมส์ (Minesweeper และ Solitaire) ผมก็มองไม่เห็นว่าตนเองจะใช้ประโยชน์จากมันในด้านใดได้อีก

การณ์กลับกลายเป็นว่า ผมต้องมานั่งขบคิดทุกวันว่า คอมฯ มันจะทำอะไรได้อีกหรือสร้างประโยชน์อะไรให้แก่ตัวผมมากกว่าการจัดการงานเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ คือ ทราบว่ามันมีอรรถประโยชน์มากมาย แต่ด้วยวิถีชีวิตในห้วงเวลานั้น คอมฯ มันยังเป็นเพียงแค่เครื่องอำนวยความสะดวกบางอย่าง แต่ยังไม่ถึงกับเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานและจัดการกับชีวิตเราในมิติต่าง ๆ เหมือนกับในยุคปัจจุบัน

จำได้ว่า สิ่งแรก ๆ ที่ผมเริ่มทดลองทำเพื่อใช้ประโยชน์จากมันก็คือ การจัดทำฐานข้อมูล Contacts ทั้งที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ และข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ของบรรดาญาติสนิทมิตรสหายโดยการทดลองใช้โปรแกรม Access และหลังจากใช้งานไปได้สักพัก ผมก็เริ่มเห็นปัญหาประการหนึ่งของตนเอง นั่นคือ ผมพิมพ์สัมผัสไม่เป็น …จึงทำให้การพิมพ์งาน และการเก็บข้อมูลมันล่าช้ามาก ทำให้ผมเริ่มคิดต่อว่า หากผมเขียนหนังสือด้วยลายมือเร็วกว่าการพิมพ์ลงเครื่องคอมฯ ฉะนั้นแล้ว ผมจะมีคอมฯ ไปทำ (แพะ) อะไร (เพราะงานหลักที่ผมต้องทำคือเขียนงานส่งอาจารย์)

ในค่ำวันหนึ่ง เพื่อนสนิทผมก็แวะเวียนมาหาและเจ้าเพื่อนคนนี้ก็มีทักษะการพิมพ์สัมผัส ผมจึงปรึกษาว่าผมจะเรียนรู้ทักษะนี้ได้อย่างไร ควรจะไปเรียนที่ไหน เพื่อนผมจึงแนะนำว่า มันไม่ได้ยากอะไร แค่ฝึกวางมือและเรียนรู้การขยับนิ้วที่ถูกต้อง จากนั้นก็เป็นเรื่องการฝึกซ้อมและหัดพิมพ์บ่อย ๆ ก็จะทำให้พิมพ์สัมผัสได้ …แต่ที่ไม่ลืมก็คือคำกล่าวของเพื่อนคนนี้ที่กระตุ้นเตือนพร้อมกับให้กำลังใจผมนั่นคือ

“…ก็เวลามึงเล่นกีตาร์ กูก็ไม่เห็นมึงต้องนั่งดูนิ้วตัวเองว่าจะจับสายไหนอย่างไร พิมพ์สัมผัสก็เหมือนกันนั่นแหละ ฝึก ๆ ไปเดี๋ยวก็ทำได้เอง”

ในช่วงปิดภาคการศึกษา ผมจึงเริ่มต้นฝึกกระบวนท่าการพิมพ์สัมผัสด้วยการพิมพ์คัดลอกหนังสือที่ผมกำลังอ่านอยู่ นั่นคือ “สันติภาพทุกย่างก้าว” ซึ่งเป็นการแปลและรวบรวมข้อเขียนของท่านติช นัท ฮันห์ …ผมจับเอาหนังสือมาหนีบติดกับที่ตั้งสำหรับพิมพ์งานที่อุตส่าห์ซื้อมา แล้วก็ค่อย ๆ นั่งพิมพ์ด้วยการพยายามไม่เหลือบดูนิ้วตนเอง แต่อาศัยการพิมพ์ไปเรื่อย ๆ หากพิมพ์ผิดมันก็แสดงความผิดพลาดบนหน้าจอ เราก็ขยับนิ้วแก้ไขกันไป นี่ก็นับว่าเป็นข้อดีของคอมฯ ที่เราสามารถพิมพ์ผิดพลาดและแก้ไขได้ตลอดเวลา ต่างจากเครื่องพิมพ์ดีด

หัดพิมพ์ผ่านการคัดลอกหนังสือไปได้ประมาณครึ่งเล่ม (ปัจจุบันไฟล์ที่ผมคัดลอกไว้ก็ยังคงเก็บไว้อยู่) ก็เริ่มคิดว่า ผมน่าจะลองหัดพิมพ์ผ่านการบันทึก Diary หรือทดลองถ่ายทอดเรื่องราวบางอย่างที่มันอยู่ในหัวออกมาแทนการนั่งเหลือบมองหนังสือสลับกับการจ้องมองหน้าจอมอนิเตอร์ …และจากการคิดเช่นนี้เอง นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ผมกลายเป็นคนจดบันทึกประจำวันอย่างจริงจังและต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ มันเป็นจุดเริ่มต้นของการ “หัดเขียนหนังสือ” ในความหมายว่า ผมเริ่มจะหัดผูกเรื่อง เอาข้อความคิดบางอย่างที่อยู่ในหัวตนเอง และค่อย ๆ ฝึกผูกประโยคเพื่อเขียนออกมาเป็นเรียงความขนาดยาว เรื่องที่เขียนจึงมีทั้งการเอาข้อสังเกตหรือสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวันมาเล่าเรียง เอาเรื่องราวในวัยเด็กมาบันทึกเก็บไว้ เอาข้อความคิดจากการอ่านงานวิชาการต่าง ๆ มาสรุปย่อและต่อเติมด้วยความเห็นตนเอง …ยิ่งเขียนก็ยิ่งสนุก ผมจึงนั่งบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ แทบจะทุกวัน

…จากการเริ่มต้นหัดพิมพ์สัมผัส มันกลับนำไปสู่การพัฒนาทักษะในการเขียนหนังสือของผมให้ดีขึ้นอย่างมาก เป็นการรื้อฟื้นความสามารถในการเขียนเรียงความภาษาไทยยุคสมัยประถมซึ่งถูกทำลายโดยสิ้นเชิงในช่วงเรียนมัธยมตามประสาเด็กที่ถูกขุนมาในสายวิทยาศาสตร์ (สมัยเรียนมหาวิทยาลัยปีหนึ่ง อาจารย์ภาษาไทยให้เขียนประวัติตนเองหนึ่งหน้ากระดาษ ผมกลับเขียนได้ไม่ถึงครึ่งหน้า แค่เขียนว่าตนเองชื่ออะไร บ้านเกิดอยู่ที่ไหน เรียนจบโรงเรียนอะไร ฯลฯ เหมือนกรอกประวัติส่วนตัวลงแบบฟอร์ม แต่ผูกประโยคอะไรไม่เป็นเลยสักนิดเดียว) …จริง ๆ จนถึงวันนี้ผมเองก็ไม่ได้เก่งกาจในทักษะการเขียนและการใช้ภาษาได้อย่างสละสลวยเหมือนกับคนที่เค้าเก่งภาษา แต่การฝึกปรือในห้วงเวลานั้นก็นับว่าช่วยผมปรับปรุงทักษะด้านนี้ให้ดีขึ้นไม่น้อยทีเดียว และเหนือสิ่งอื่นใด มันได้กลายเป็นทักษะสำคัญที่ผมใช้ทำมาหากินจวบจนปัจจุบัน

Thursday, August 15, 2019: 18.30@Bangplub

กว่าจะ (อด) เป็นมารบูรพา ภาคต้น

ยามสายวันอาทิตย์ ผมได้รับข้อความจากคนคุ้นเคยผ่านทาง Social Network หลายข้อความ ที่น่าสนใจคือ เกือบจะทั้งหมดมันเป็นข้อความที่เกี่ยวพันกับอดีตและความหลังของตนเอง วันนี้ทั้งวันเลยทำให้ผมนั่งคิดนั่งนึกถึงเรื่องราวต่าง ๆ ของตนครั้งยังอยู่ในวัยละอ่อน

หนึ่งในข้อความที่กลายมาเป็นข้อเขียนวันนี้มาจากเพื่อนเก่าเพื่อนแก่สมัยมัธยมที่ไม่ได้ติดต่อกันมาเนิ่นนานมาก เธอส่งข้อความขนาดยาวเพื่อเล่าเรื่องราวลูกชายวัยรุ่นของเธอ สาระสำคัญอยู่ที่ว่า เจ้าลูกชายคนนี้พักหลังเกเรมาก ไม่สนใจการเรียนจนคนเป็นแม่ก็ห่วงว่าจะสอบเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในคณะวิชาที่ต้องการไม่ได้ เรื่องนี้มันมาเกี่ยวกับผมก็ตรงที่ว่า เพื่อนคนนี้ได้ใช้เรื่องราวของผมสมัยวัยรุ่นตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาเป็น “อุทาหรณ์สอนใจ” เพื่อเป็นแรงผลักแรงดันแก่ลูกชายของเธอ และเหตุที่เธอส่งข้อความมา ก็คงเพราะเรื่องราวของผมมันดูจะได้ผล เป็นแรงส่งให้ลูกชายเธอหันกลับมาตั้งใจเรียนในช่วงโค้งสุดท้ายหรือเพียง 1 เดือนก่อนการสอบ จนสามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้ตามที่ตั้งใจเหมือนกับกรณีของผมในครั้งอดีต

เรื่องราวสมัยเรียนครั้งนั้น ผมเคยพูดเคยเล่าให้คนสนิทสนมฟังในหลายวาระ แต่จากเหตุการณ์เมื่อตอนสายก็เลยคิดจะเขียนเก็บเอาไว้ “กันลืม” ไม่ได้คิดจะให้เป็นอุทาหรณ์สอนใจใครแต่อย่างใด แต่ที่บันทึกไว้ก็เพื่อจะสะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดของเด็กวัยรุ่นสมัยนั้นซี่งมันสัมพันธ์อย่างยิ่งกับบริบททางสังคมในระยะปลาย 1980s ถึงต้น 1990s และมีความแตกต่างอย่างมหาศาลจากยุคปัจจุบัน

จะว่าไป เรื่องราวของผมสมัยมัธยมปลายมันก็คงคล้าย ๆ กับเด็กยุคนั้นจำนวนมาก คือ มันเป็นเรื่องของเด็กที่ไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้ว่าตนควรจะเรียนอะไรเพื่อไปเป็นหรือไปทำอะไรในอนาคต แต่อาศัยว่าเศรษฐกิจตอนนั้นกำลังเติบโต การแข่งขันแม้จะเริ่มสูงขึ้นแต่คงต่างจากยุคปัจจุบันมาก กติกาตอนนั้นมันเหมือนกับทุกอย่างจะถูกวัดด้วยการสอบ และการสอบที่สำคัญที่สุดคือ “การสอบ Entrance เข้ามหาวิทยาลัยปิด” หากสอบเข้าไปได้และเรียนจบจนได้ปริญญาก็เป็นหลักประกันชั้นดีในการมีอนาคตที่ดี …เรื่องราวมันวางอยู่บนโครงเรื่องแบบนี้

ตอนเด็ก ๆ ผมเองก็คงจัดอยู่ในกลุ่มเด็กที่เรียนหนังสือดี แต่เก่งหรือไม่นั้นไม่รู้ อาศัยว่าสอบได้คะแนนดี เกรดเฉลี่ยดี ก็นับว่าเรียนดี คือโดยส่วนตัวผมไม่ใช่คนขยันหมั่นเพียรอะไร อาศัยว่าตอนเด็ก ๆ เป็นคนค่อนข้างรับผิดชอบ คือพ่อแม่ให้เรียนก็เรียนไป ครูให้ทำอะไรก็ทำไป ถึงเวลาสอบก็สอบไป ผลการเรียนมันก็เลยดี …แต่อย่ามาถามว่าไอ้ที่เรียน ๆ นี่ชอบมั้ย ก็ตอบตรง ๆ ว่าไม่รู้ คือก็ไม่ได้เกลียดการเรียนแต่ก็ไม่ได้หลงรักวิชาใดเป็นการเฉพาะ สรุปคือ เรียนไปงั้น ๆ

แต่เหตุการณ์มาเริ่มเปลี่ยนก็ตอนสมัยขึ้นชั้นมัธยม 5 ซึ่ง “rules of the game” ตอนนั้นก็คือ พวกเราต้องเตรียมตัวสอบสำหรับเข้ามหาวิทยาลัยกันล่วงหน้าได้แล้ว แต่ก็พึงสนใจเฉพาะวิชาที่ต้องใช้สอบในคณะวิชาที่กำหนดก็พอ วิชาอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวก็ทิ้ง ๆ ไป ส่วนการเรียนในชั้นเรียนก็ไม่จำเป็นนัก เอาเวลาไปอ่านหนังสือทดลองทำข้อสอบดีกว่า เพื่อนหลายคนจึงเรียน กศน. เพื่อสอบเทียบจะได้ลองสอบเข้ามหาวิทยาลัยตั้งแต่จบชั้นมัธยม 5 ได้เลย ส่วนผมยังรักษา concept คือ เรียนไปงั้น ๆ ไม่ได้มีแรงผลักให้ต้องขวนขวายมากขนาดนั้นจึงไม่ได้เรียน กศน. และสอบเทียบอะไรกับเค้า

เมื่อขึ้นชั้นมัธยม 5 เพื่อนกลุ่มผมจะมีอาการร่วมนั่นคือ เริ่มจะสนใจการเรียนในชั้นเรียนน้อยลง เล่นกันมากขึ้น อาศัยว่าเดี๋ยวค่อยไปวัดกันตอนสอบ จึงเริ่มมีอาการเกเรเกิดขึ้น …แต่คำว่า “เกเร” ในครั้งนั้นก็ไม่ได้มีอะไรมากมาย คือ “เล่น” กันมากกว่าเรียน ไม่ได้ไปติดยาเสพติดหรือไปทำเรื่องในลักษณะ “เสียผู้เสียคน” อะไร มากสุดคือ ไม่ค่อยเข้าเรียน เข้าเรียนก็ไม่ค่อยสนใจเอาแต่เล่น ต่อมาก็ตั้งแก๊งค์จักรยานยนต์ แต่ก็ไม่ได้ไป “แว๊น” แบบสมัยนี้ แต่พวกเรานั้นชอบเที่ยว เน้นขับขี่รถข้ามจังหวัดข้ามเมืองไปเที่ยวกันในวันหยุด จะดูเกเรมากสุดคือ พวกเราเริ่มชอบไปเที่ยว “เธค” ยามค่ำคืน ณ จังหวัดข้างเคียง ผลสรุปก็คือ เกรดเฉลี่ยตกลงไปคนละประมาณ 1.0 คือจากเด็กที่ได้เกรดเฉลี่ยแถว ๆ 3.7 – 3.9 ก็ลงมาแถว ๆ 2.7 กันถ้วนหน้า แต่เราก็ไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไรเพราะวิชาหลัก (อันหมายถึงวิชาที่ต้องใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย) ก็ยังดีอยู่

หลังจบชั้นมัธยม 5 เพื่อนหลายคนก็ออกจากโรงเรียน เนื่องจากสอบเทียบได้แล้วก็เลยออกไปตั้งหน้าตั้งตาอ่านหนังสือเตรียมสอบ โดยมีบางส่วนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้วก็มีทั้งลองเรียนแต่ก็กะจะสอบใหม่ แต่โดยมากจะรอสอบใหม่เพื่อให้ได้คณะวิชาที่ใฝ่ฝัน ห้องเรียนจึงโหรงเหรง ผมเองซึ่งไม่สนใจสอบเทียบก็เรียนหนังสือชั้นมัธยม 6 ต่อไปแบบเนือย ๆ ผสมว้าวุ่นใจแต่ก็ไม่รู้จะจัดการกับตนเองอย่างไร

ตอนนั้นมันเหมือนกับมีบรรยากาศรอบข้างที่ดูจะกดดันตลอดเวลาว่า ต้องตั้งใจและมุมานะในการเตรียมสอบวัดชะตาชีวิต แต่ผมกลับได้แต่คิดแต่ไม่ลงมือทำอะไรสักอย่าง แม้จะบอกตนเองว่า “สมัยมัธยม 5 เราเล่นมาพอแล้ว ตั้งใจได้แล้ว” แต่มันกลับไม่มีแรงผลักอะไรสักอย่างให้กลับมาตั้งใจเตรียมสอบ

ย้อนกลับมาคิดถึงตนเองครั้งนั้นคงเพราะว่า ผมเองเอาเข้าจริงก็มิใช่เป็นคนทะเยอทะยานอะไร คือเป็นคนเรื่อย ๆ เปื่อย ๆ ครอบครัวเองก็ทำธุรกิจอยู่ในเมืองเล็ก ๆ ก็เห็นพ่อและแม่มีชีวิตที่ดี พี่ชายพี่สาวและคนอื่น ๆ รอบตัวผมก็เห็นเรียนจบมหาวิทยาลัย แต่ท้ายที่สุดก็กลับมาทำธุรกิจอยู่ที่บ้านเกิดกันเสียเป็นส่วนใหญ่ ผมจึงเห็นตัวอย่างและยอมรับแบบแผนชีวิตเช่นนี้กระมัง แต่ในพื้นที่โรงเรียน กลับมีแรงกดดันอีกอย่าง คือ หากเรียนดีต้องเรียนสายวิทยาศาสตร์ และต้องสอบเข้าคณะวิชาดี ๆ อย่างแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ หรือสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่น ๆ

ตลอดปีสุดท้ายของการเรียนมัธยม ผมจะเนือย ๆ และงง ๆ กับตนเองว่าจะเอาอย่างไรดี คือจริง ๆ ตนเองไม่เคยคิดหรือใฝ่ฝันว่าจะ “เป็น”อะไร รู้แต่ว่าชอบที่จะ “อยู่” แบบไหน มันเลยขัดกันระหว่างการชอบชีวิตเนือย ๆ สบาย ๆ กับแรงกดดันภายนอกที่คาดหวังให้เราไป “เป็น” นู่นนี่นั่น แต่จะเป็นได้นั้นก็ต้องสอบเข้าคณะวิชาที่เค้าว่ากันว่ามันจะทำให้เรามีอนาคตที่ดี …แต่ครั้งนั้นผมคงไม่ได้คิดอะไรมากขนาดนี้หรอก รู้แต่ว่ามันเนือย ๆ เบื่อ ๆ ไม่รู้สึกอยากจะอ่านหนังสือเตรียมสอบอะไร แต่ก็รู้สึกผิดรู้สึกกดดันอยู่บ้างที่เห็นคนอื่น ๆ เค้าตั้งอกตั้งใจ …แต่โดยสรุป ก็คือ ผมขี้เกียจ วัน ๆ เอาแต่นั่งวาดรูปและฟังเพลงไปตามเรื่อง

แต่แรงกดดันมาเพิ่มขึ้น ภายหลังการประกาศผลสอบโควต้าเข้ามหาวิทยาลัยในภูมิภาค กล่าวคือ เด็กโรงเรียนต่างจังหวัดจะมีสิทธิในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยภูมิภาคของตนก่อนการสอบใหญ่ ผมยอมรับว่าผมไปสอบโดยไม่อ่านหนังสือหรือเตรียมตัวอะไรเลยแม้แต่นิดเดียว แถมช่วงสอบก็ห่วงแต่เที่ยวเล่น สุดท้ายก็สอบไม่ติดอะไรกับเค้า …ก็นับว่าเป็นไปตามความคาดหมาย

แต่หลังจากนั้นแรงกดดันก็เหมือนจะเพิ่มขึ้นมหาศาล กล่าวคือ ผมและเพื่อนที่ชอบเที่ยวเล่นด้วยกันเริ่มจะมีอาการ “จ๋อย” เพราะเห็นคนอื่น ๆ เค้าสอบได้กันและมีที่เรียนแน่นอนแล้ว แถมครูบาอาจารย์ก็เพิ่มแรงกดดันเข้าไปอีกด้วยการตำหนิพวกผมว่าเอาแต่เล่น ซึ่งพวกเราก็น้อมรับโดยดี

สำหรับผมโดยส่วนตัวแม้จะรู้สึกอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ทุกข์ใจอะไรมากมาย เพราะตอนนั้นคิดแต่เพียงว่า สอบได้ก็ดี สอบไม่ได้ก็เข้ามหาวิทยาลัยเปิดหรือเอกชนไป เรียนพอได้ปริญญาและมีประสบการณ์ชีวิตบ้าง ท้ายสุดคงมา “ทำมาหากิน” ณ บ้านเกิดตนเองอยู่ดี คิดแบบนั้นจริง ๆ

แต่อาการกดดันจนทำให้ตนรู้สึกเศร้า คงมาจาก “จดหมายน้อย” ของแม่ …ในวันหนึ่งหลังกลับจากโรงเรียนผมก็เห็นจดหมายเขียนด้วยลายมือแม่วางอยู่บนโต๊ะอ่านหนังสือของผม เนื้อความมีอยู่ประมาณว่า พ่อและแม่รู้สึกเสียใจที่ผมเปลี่ยนไป ไม่ตั้งใจเรียนและรับผิดชอบเหมือนเมื่อก่อน ตอนนี้พ่อและแม่เป็นห่วงผมมาก …หลังอ่านจบผมก็รู้สึกตัวชาและเศร้ากับตนเอง

ตั้งแต่เด็กจนโต พ่อกับแม่ผมไม่เคยเข้ามายุ่งเรื่องการเรียนของผมเลยแม้แต่นิดเดียว ไม่เคยจ้ำจี้จ้ำไชให้อ่านหนังสือ ไม่เคยแม้แต่พูดในลักษณะกะเกณฑ์ว่าจะต้องเรียนอะไรเพื่อไปทำอะไร ทั้งคู่คอยแต่สนับสนุนผมในทุกทางที่ผมเดินก็แค่นั้น แต่จดหมายของแม่นับเป็นครั้งแรกที่พ่อและแม่แสดงความเป็นห่วงเรื่องการเรียนของตัวผม ทั้งที่ในอดีตผมก็จัดการและรับผิดชอบได้ดี แต่ครั้งนี้แม่กลับรู้สึกกังวลใจว่า “ก้องเปลี่ยนไป”

…มันก็คงไม่เหมือนกับในภาพยนตร์หรอกครับ ที่พอผมอ่านจดหมายของแม่จบก็เกิดแรงฮึดตั้งอกตั้งใจและเปลี่ยนแปลงตนเอง …ตรงข้าม ผมก็เนือย ๆ ของผมต่อไปผสมอาการว้าวุ่นใจด้วยความรู้สึกผิดที่มากขึ้นก็เท่านั้น …หลังจากการสอบปลายภาควิชาสุดท้ายและจบชีวิตนักเรียนมัธยมนั่นแหละ ผมถึงมาเริ่มอ่านหนังสือ

เหตุก็ไม่มีอะไรเพียงแค่รู้สึกว่า อย่างไรเสียก็ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ จะคณะวิชาอะไรก็ช่างมัน ขอเพียงแค่ไม่ทำให้พ่อแม่เสียใจก็พอแล้ว และมันก็สะท้อนออกมาผ่านการเลือกคณะวิชาของผม คือ ครั้งนั้นเราสามารถเลือกอันดับคณะวิชาที่ต้องการได้ทั้งหมด 5 อันดับ ส่วนจะได้อันไหนก็ขึ้นกับผลคะแนน …ผมจึงปรึกษาเหล่าเพื่อน ๆ ที่มีตารางเทียบคะแนนของผลการสอบปีก่อนมาช่วยลงคณะให้ผม

…เพื่อนคนแรก (สอบติดไปแล้วแต่กำลังจะสอบใหม่) ก็แนะนำว่า ให้ลงคณะนี้มหาวิทยาลัยนั้นเป็นอันดับที่ห้า เพราะคะแนนไม่สูงนัก น่าจะสอบติด และจากประสบการณ์ที่มันเคยสอบติดคณะนี้มาแล้วตั้งแต่จบมัธยม 5 ก็พบว่า สาว ๆ คณะนี้หน้าตาดี ควรเลือก คือ เรียนแล้วไม่ชอบก็ไม่เป็นไร แต่บรรยากาศน่าจะดี

…เพื่อนอีกสองคนที่สอบติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ตั้งแต่ตอนสอบโควต้าก็หยิบปากกามากรอกใบสมัครให้ผม บอกว่า “ไอ้ก้อง มึงต้องไปเรียนกับกู” …เป็นอันว่า อันดับสามและอันดับสี่เพื่อนผมเลือกให้เสร็จ

…ส่วนเพื่อนสนิทที่เที่ยวเล่นด้วยกันมานาน บอกว่า “ก้องเราต้องไปเรียนวิศวะที่…ให้ได้ และมึงต้องไปเรียนกับกู กูเลือกเป็นอันดับหนึ่งเลยนะ” …สรุป อันดับหนึ่งเพื่อนสนิทผมก็เลือกให้

…คงเหลืออันดับสอบ 2 ที่ยังว่างอยู่ ผมจึงเอาตารางคะแนนมานั่งทาบ ๆ ดูก็เห็นอยู่ 2-3 คณะวิชา แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำได้ว่ามีนิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ที่คะแนนสอบเข้าพอ ๆ กัน ท้ายสุดผมก็เลือก “รัฐศาสตร์” ด้วยเหตุผลที่ไม่เป็นเหตุผลคือ นิติศาสตร์ กับเศรษฐศาสตร์ พอจะรู้อยู่บ้างว่าเค้าเรียนอะไร แต่รัฐศาสตร์นี่มันคืออะไร แถมชื่อก็แลดูเพราะดี เอาคณะนี้ก็แล้วกัน

ภายหลังมาเล่าให้เพื่อนฟัง หลายคนก็ขำ ผมเองนึก ๆ ไปก็ขำ แต่มันก็สะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบการแนะแนวการศึกษาต่อในห้วงเวลานั้น คือ ตามประสาเด็กสายวิทย์ หากหลุดจากแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่รู้อะไรแล้วว่าคณะวิชาอื่น ๆ เค้าเรียนอะไรกัน เรียนแล้วไปทำอะไร ประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง …ไม่รู้อะไรเลย

ส่วนเรื่องเตรียมสอบ ผมเริ่มต้นนับหนึ่งหลังจากจบชีวิตมัธยม และผมก็นับวันบนปฏิทินพบว่า ตนเองมีเวลาเตรียมตัวทั้งสิ้น 29 วัน และผมก็เชื่อเพื่อนที่บอกว่า วิชาอื่นอ่านให้ตายก็เท่านั้น คะแนนคงไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก แต่ควรจะเน้นอ่านวิชาเคมีซึ่งหลายคนมองข้าม เพราะเป็นวิชาประยุกต์ผสมความจำ หากทำได้ดีจะได้คะแนนค่อนข้างสูง สรุปคือ 29 วันผมอ่านเฉพาะวิชาเคมี

กิจวัตรของผมในระยะนั้นก็ลงตัวดี คือเริ่มต้นอ่านหนังสือประมาณ 4 ทุ่ม อ่านไปเรื่อย ๆ พักบ้าง ฟังเพลงบ้าง จนกระทั่งถึงเช้า จากนั้นก็ทานข้าวเช้าและช่วยงานแม่ ประมาณก่อนเที่ยงก็เข้านอน มาตื่นอีกครั้งก็ตอนเย็น จากนั้นก็ทานข้าว ดูทีวี ขี่จักรยานยนต์เที่ยวเล่นบ้าง พอสี่ทุ่มก็กลับมานั่งอ่านหนังสือใหม่

พอใกล้วันสอบ ผมและเพื่อนอีกสองคนรวม 3 ชีวิตก็ตกลงที่จะเดินทางไปสอบด้วยกันที่จังหวัดขอนแก่น พวกเราจองห้องพักที่โรงแรมจิ้งหรีดแห่งหนึ่ง เวลาไปสอบก็อาศัยเพื่อนคนอื่น ๆ ที่มาล่วงหน้าและมีรถจักรยานยนต์ซ้อนท้ายไปสอบ ณ โรงเรียนประถมที่ใช้เป็นหนึ่งในสนามสอบ

จำได้ว่า วิชาเคมีเป็นวิชาแรก ๆ ของการสอบ และหลังการสอบเสร็จ ผมก็ไม่รู้ไปเอาความมั่นใจมาจากไหนว่า “กูสอบติดมหาวิทยาลัยแน่ ๆ” การสอบวันหลัง ๆ ผมกลับไม่กดดันอะไร ไปเรื่อย ๆ ของมัน จนกระทั่งการสอบวิชาสุดท้ายนั่นคือ ความถนัดทางวิศวกรรม

จริง ๆ ก็ไม่อยากจะกล่าวถึงเรื่องนี้ เพราะอาจทำให้คนเข้าใจผิดไปได้ แต่ที่อยากบันทึกเพื่อให้เห็นถึงความนึกคิดของเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง และการตัดสินใจของเด็กคนนั้นว่ามันวางอยู่บนฐานคิดอะไร แต่เหนือสิ่งอื่นใด เรื่องนี้มันอาจจะเกี่ยวกับชีวิตของผมในห้วงเวลาต่อมาอีกยาวนาน (จนถึงปัจจุบัน)

โดยเหตุที่วิชาความถนัดทางวิศวกรรมเป็นวิชาที่ผมต้องสอบเนื่องจากเพื่อนที่แสนดีได้กรอกเลือกให้ผมไว้ จำไม่ผิดวิชานี้ต้องสอบตอนบ่ายแก่ ๆ และไม่ใช่ทุกคนต้องสอบ ห้องสอบก็มีนักเรียนไม่เต็มห้องเหมือนวิชาอื่น ๆ คงเพราะเป็นวิชาสุดท้ายกระมัง ระหว่างการนั่งสอบ อยู่ดี ๆ ผมก็รู้สึกว่า “กู เหนื่อยแล้ว” คือย้อนคิดกลับไปถึงวันนี้ผมก็ยังไม่เข้าใจตนเองว่าเป็นอะไรหรือคิดอะไร จำได้เพียงว่า ผมรู้สึกเหนื่อยและเบื่อการสอบแล้ว อยากจะออกจากห้องสอบไปให้พ้น ๆ และไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนมากกว่า และอยู่ดี ๆ ผมก็เลิกทำข้อสอบ นั่งฝนคำตอบข้อ ค. และนั่งรอจนครบครึ่งชั่วโมง จากนั้นก็เดินเอากระดาษคำตอบไปส่งและออกจากห้องไปโดยไม่มีเหตุผลอะไร นอกจากคำพูดที่บอกกับตนเองว่า “กู เหนื่อยแล้ว”

การกระทำของผมไม่พ้นหูพ้นตาของเพื่อนสนิทที่ร่วมสนามสอบ มันถึงกับพูดว่า “ทำไมมึงไม่ตั้งใจสอบ มึงไม่อยากไปเรียนกับกูหรืองัยวะ” จนถึงวันนี้ ผมเองก็หา “ความเป็นเหตุเป็นผล” ในการกระทำของตนไม่ได้ จำได้แต่ความรู้สึกว่าเหนื่อย และนึกถึงแต่ภาพของตนเองว่า หลังสอบจะขี่รถจักรยานยนต์ ให้ลมเย็น ๆ มันโบกพัดเข้าหน้า เท่านั้นเอง

…หลังสอบเสร็จ ผมก็ไม่มีความทรงจำอะไรอีกเลย กลับมาถึงบ้านผมไม่สนใจติดตามหรือรอผลการสอบเลยด้วยซ้ำ เพื่อนฝูงก็ไม่ได้พบ ความคิดเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมันไม่อยู่ในห้วงความคิดของผมอีกต่อไป …เพราะมันจบไปแล้วมั้ง

ในทุกช่วงฤดูร้อน พ่อผมมักจะพาลูก ๆ พ่วงด้วยเหล่าบรรดาลูกพี่ลูกน้องของผมไปเที่ยวทะเลกันเป็นประจำทุกปี ครั้งนั้นจำได้ว่าเราไปเที่ยวระยอง หลังจากพักคืนแรกที่รีสอร์ทเปิดใหม่แห่งหนึ่ง คืนที่สองพ่อก็พาย้ายไปพักอีกโรงแรมหนึ่ง ระหว่างรอพ่อจัดการเช็คอินเข้าโรงแรมผมก็ออกไปเดินเล่นกับพี่ ๆ น้อง ๆ สักพักพี่สาวก็เดินมาบอกว่า “แสดงความยินดีด้วยนะเด็กธรรมศาสตร์” มาทราบความภายหลังว่า แม่ซึ่งอยู่ที่บ้านได้รับจดหมายบอกผลสอบ จึงส่งข้อความมาทางเพ็จเจอร์ให้พ่อโทรกลับเพื่อบอกข่าว ก็นับเป็นข่าวดีที่ผมและลูกพี่ลูกน้องที่เรียนด้วยกันมาตั้งแต่เด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ทั้งคู่

ที่ผมจำได้แน่ ๆ ก็คือ คำทักทายจากพี่สาวที่แสดงความยินดีกับผม มันทำให้ผมตอนนั้นเพิ่งนึกออกว่า “เออ…ใช่ ผลสอบเข้าออกแล้ว” คือ ตอนนั้นมันลืมไปจากความทรงจำจริง ๆ ไม่ได้สนใจอะไรเลย และพอทราบผล ผมก็มิได้ยินดียินร้ายอะไร ก็คิดเพียงว่า “ก็ดีแล้ว อย่างน้อยพ่อกับแม่คงไม่เสียใจ” …แค่นั้นเองจริง ๆ

คือผมก็ยังเนือย ๆ ของผมต่อไป กระทั่งตอนเข้ามาเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ ผมก็มาแบบเนือย ๆ เรื่อย ๆ เปื่อย ๆ ในแบบของผม คิดแต่ว่า เรียนให้มันจบ ๆ ได้ใบปริญญา จากนั้นคงหางานทำให้พอมีประสบการณ์แล้วค่อยกลับบ้านไปทำมาหากินแถวนั้น เหมือนกับแบบแผนของคนรอบตัวที่ผมคุ้นชิน จะมีเรื่องแปลกก็เพียงว่า คณะที่ผมสอบได้นั้น มันเป็นเพียงคณะเดียวที่ผมเลือกด้วยตนเอง แต่ที่เลือกก็ด้วยชื่อที่มันเพราะดี แต่ถามว่ามันเรียนเกี่ยวกับอะไร เรียนแล้วไปประกอบอาชีพอะไรได้บ้างนั้น …ไม่รู้จริง ๆ ถามว่า ตายแล้วไปไหนอาจจะง่ายกว่า

นิทานเรื่องนี้ ไม่ได้สอนอะไร ไม่ได้บอกอะไร มันเป็นเพียงเรื่องของเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง เติบโตมาแบบหนึ่ง ภายใต้บริบทจำเพาะทางสังคมในยุคสมัยหนึ่ง คงเทียบเคียงอะไรไม่ได้กับยุคสมัยนี้ …ผมยังเคยคิดเล่น ๆ ว่า หากตนเองเติบโตในยุคปัจจุบัน ผมจะเอาตัวรอดได้หรือไม่ …เรื่องทั้งหมดจึงเป็นเรื่องของผมที่ต้องการจะเก็บร่องรอยบางอย่างในห้วงเวลาหนึ่งเอาไว้  พร้อมกันนี้ก็พยายามจะทำความเข้าใจผ่านแว่นตาของตนที่โตขึ้น

ข้อสรุปสำหรับตนเองคือ เรื่องราวทั้งหมดผมจำได้แต่เพียงความรู้สึก แต่ไม่สามารถหาเหตุหาผลอธิบายการกระทำของตนเองได้ชัดเจนนัก มีเพียงสิ่งเดียวที่พอจะนับเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจหรือการดำเนินชีวิตของผม ณ ตอนนั้น (และรวมถึงในห้วงเวลาต่อมาอีกยาวนาน) ก็คือ “กูมีฟูกให้ล้มลงนอน” คือจะว่าไปทั้งตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย ตอนเรียนจบ หรือตอนเริ่มต้นทำงาน ผมยังมีความคิดอยู่ในห้วงคำนึงตลอดเวลาว่า “ทำ ๆ ไปก่อน สักพักค่อยกลับบ้าน” …ถึงวันนี้ แม้วิถีชีวิตและวิธีคิดของผมจะเปลี่ยนไปมากแล้ว แต่อาการคิดคำนึงถึงการ “กลับไปทำมาหากินแถวบ้าน” ก็ยังโผล่ขึ้นมาเป็นระยะ ๆ

Sunday, August 11, 2019: 23.42@Bangplub

My Barber Man, MONDAY, 26. NOVEMBER 2007, 14:34:02

ข้อเขียนนี้ตั้งต้นมาจากข้อสมมติฐานส่วนตัวว่า “คนเรานั้นมักจะไม่เปลี่ยนร้านตัดผมกันบ่อย” …และมีเหตุผลสนับสนุนคือ กิจกรรมการตัดผมนั้นจำต้องอาศัย “การสื่อสาร” ที่ดีเยี่ยมระหว่างผู้ตัดและผู้ถูกตัด และการจะหาร้านตัดผมที่เข้าใจความต้องการของเราและเนรมิตทรงผมออกมาได้ถูกใจนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ฉะนั้น เมื่อเราเกิดความพึงพอใจต่อบริการที่ได้รับจากร้านใดร้านหนึ่ง เราจึงมักไม่ค่อยจะเปลี่ยนไป “ลองของ” ร้านใหม่ๆ

สำหรับตัวผมเองแล้ว การที่เราจะค้นพบค้นหาร้านตัดผมที่ให้บริการได้ถูกใจเรานั้น ไม่ต่างอะไรจากการตามหาใครสักคนมาเป็นคนรักของเรา เพราะมันต้องผ่านกระบวนการของการลองผิดลองถูก มีทั้งหวาน (เมื่อช่างตัดถูกใจเรา) มีทั้งขม (เมื่อเราได้ทรงผมที่ไม่ถูกใจ) ผ่านการดูใจและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และมีบางครั้งที่อาจทะเลาะเบะแว้งไม่ลงรอยกัน (เมื่อเราอยากได้ทรงผมแบบหนึ่ง แต่ช่างอยากจะตัดอีกแบบหนึ่ง) …การได้พบร้านตัดผมที่ถูกใจ (และถูกสตางค์) จึงเหมือนกับการได้พบคนที่ต้องใจซึ่งเราอยากจะรักษาความสัมพันธ์ให้เนิ่นนานยืดยาว

โดยเหตุที่หัวใจสำคัญของการตัดผมได้แก่ การสื่อสาร นี่เอง ทำให้ผมต้องพบกับความยากลำบากเป็นอย่างยิ่งเมื่อต้องมาศึกษาต่อ ณ ประเทศญี่ปุ่น …ลำพังแค่การหาร้านตัดผมในเมืองไทยที่โดนใจเราก็เป็นเรื่องยากแล้ว แต่การตัดผมในญี่ปุ่น ถือเป็นความท้าทายที่มีอัตราความเสี่ยงสูงยิ่งสำหรับคนที่มีความสามารถทางภาษาญี่ปุ่นในระดับศูนย์เช่นผม …การตัดผมครั้งแรกในญี่ปุ่น จึงนับเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำยิ่ง

ในช่วงเดือนแรกๆ ของการเดินทางมาถึงที่นี่นั้น ความวิตกกังวลยังมีไม่มากนัก แต่เมื่อเส้นผมเริ่มจะรุงรังมากขึ้น ความวิตกกังวลก็ค่อยๆ เพิ่มระดับแปรผันตามความยาวของเส้นผม …และมันก็มาถึงจุดวิกฤตเมื่อผมเริ่มทนไม่ได้ต่อความกระเซอะกระเซิงของตนเอง (จริงๆ แล้ว จุดแตกหักเกิดมาจากความเป็นคนขี้รำคาญ ซึ่งมิอาจทนต่อการทิ่มแทงของเส้นผมตามหน้า คอ หรือหูได้)

หลังจากทำใจอยู่นาน ผมก็เริ่มหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจและทำให้ทราบว่า ร้านตัดผมในญี่ปุ่นนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ เช่นเดียวกับในเมืองไทย นั่นคือ ร้านแบบบาร์เบอร์ กับแบบซาลอน …ด้วยความที่คิดว่าตนเองยังอยู่ในวัยรุ่น (แม้นจะค่อนปลายไปมากก็ตาม) ก็อยากจะลองตัดในร้านแบบซาลอนตามสมัยนิยม …แต่ที่สุดผมก็ต้องเปลี่ยนใจ ภายหลังรับฟังคำบอกเล่าจากเพื่อนคนหนึ่งก็ทราบว่า ในร้านแบบซาลอนนั้น โดยมากการตัดผมจะมาเป็นแบบแพ็คเกจ คือ ตัดผมและกันคิ้ว …โปรดอย่างแปลกใจ…ผู้ชายในญี่ปุ่นโดยเฉพาะในวัยรุนนั้น จะนิยมกันคิ้วให้โก่งเรียวเป็นคันศร …ผมจึงต้องกลับมาตั้งหลักคิดใหม่ ด้วยไม่รู้จะบอกช่างเป็นภาษาญี่ปุ่นอย่างไรว่า “ตูไม่กัน ตูม่ายก๊านคิ้ว (โว้ย)” เพราะกลัวตนเองจะมีรูปลักษณ์เหมือนกับนักร้องวัยรุ่นญี่ปุ่น (แม้นว่า หน้าตาจะเอื้ออำนวยก็ตาม…กระโถนๆ) กอปรกับค่าบริการในร้านแบบนี้ก็ค่อนข้างแพง คืออย่างถูกๆ ก็ไม่ต่ำกว่า 3 พันเยน …ผมก็เปลี่ยนเป้าหมายจากสาวจี๊ดจ๊าดนำสมัย ไปสู่ผู้หญิงที่ดูเรียบๆ แต่เชื่อถือได้แทน นั่นคือ ร้านบาร์เบอร์

นับเป็นโชคดีที่ผมค้นพบว่า มีร้านตัดผมแบบบาร์เบอร์แห่งหนึ่งตั้งอยู่แถวๆ สถานีรถไฟ Hanshin Mikage ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนรถเมล์ที่ผมต้องแวะเกือบทุกวันเมื่อครั้งยังไม่ย้ายหอพัก จุดดึงดูดให้ผมตัดสินใจไปลองของก็ด้วยป้ายโฆษณาหน้าร้านตัวโตที่บอกราคาค่าบริการว่าเพียง 1 พันเยน ซึ่งถือว่าถูกมากๆ

เมื่อตัดสินใจเดินเข้าร้าน ผมก็ต้องงงเล็กน้อยกับระบบของร้าน …หลังจากยืนเงอะๆ งะๆ สักพัก เจ้าของร้านก็เข้ามาบอกว่า ผมต้องซื้อบัตรตัดผมเสียก่อนโดยสอดแบงก์พันเยนเข้าไปที่เครื่องซึ่งตั้งอยู่บริเวณทางเข้าก็จะมีบัตรเด้งออกมา จากนั้นก็ต้องไปนั่งรอ …ร้านแห่งนี้มีช่างเพียงแค่ 2 คน เข้าใจว่าน่าจะเป็นคู่สามี-ภรรยา โดยฝ่ายชายก็จะตัดผมผู้ชาย ฝ่ายหญิงก็ตัดผมผู้หญิง มีการ “แยกเพศ” อย่างชัดเจน ไม่มีการปะปน “ร่วม…” แต่อย่างใด

ร้านแห่งนี้น่าจะเป็นร้านยอดนิยมของผู้คนภายในชุมชนบริเวณนี้ ลูกค้าก็มีทั้งหญิงและชาย ทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ไปจนถึงผู้สูงอายุ …ระหว่างนั่งรอนั้น ผมรู้สึกประหม่าวิตกเหมือนกับคนรอสัมภาษณ์สมัครงาน พยายามหมกมุ่นครุ่นคิดว่า “ตู จะพูดกับมันยังไงดีหว่า” …และแล้วเมื่อถึงคิวเชือด ผมก็เดินขาสั่นๆ เข้าไปนั่งบนเก้าอี้ ฝ่ายช่างก็ไม่รอช้า เล่นยิงคำถามมาเป็นชุดในภาคภาษาญี่ปุ่น ผมก็ได้แต่ทำหน้าเอ๋อๆ พร้อมกับพูดประโยคเอาตัวรอดว่า “เอ่อ…ขอโทษนะครับ ผมไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่น” แล้วก็ไม่รีรอให้ช่างพูดอะไรต่อ ผมรีบชิงทำท่าทางอย่างคนหมดหวังให้ช่างเข้าใจว่าผมต้องการทรงผมเช่นไรโดยการยกมือขึ้นจับผม พร้อมกับพูดว่า “ช็อตโตะ ช็อตโตะ เน่อ…” (พยายามจะบอกว่า อยากจะตัดอะไรก็ตัดไป แค่ให้มันสั้นก็พอแล้วคร้าบ…)

กรรมดีที่เคยไปให้อาหารปลาที่ท่าน้ำวัดไร่ขิงก็ช่วยชีวิตผมอีกครั้งหนึ่ง เพราะช่างคนนี้นั้นมีความละเอียดอ่อนและเป็นมืออาชีพสูงมาก แม้นเรามิอาจจะบรรลุซึ่ง “การสื่อสารที่สมบูรณ์แบบ” แต่เขาก็ไม่หักหาญตัดผมไปตามอารมณ์ หากแต่จะหมั่นจับเส้นผมของผมขึ้นมา และถามก่อนจะตัดทุกครั้งว่า “โอเคะ โอเคะ” แปลได้ว่า “สั้นขนาดนี้พอมั้ย” หรือ “จะตัดผมส่วนนี้นี่โอเคหรือเปล่า” …ผมก็ได้แต่ตอบว่า “ไฮ่ๆๆๆๆ” ไปตามเรื่องตามราว และพยายามส่งรอยยิ้มผ่านกระจกเป็นระยะๆ ว่า ผมพอใจกับสิ่งที่เขากำลังทำอยู่

เมื่อเห็นว่าผมพอใจ My Barber Man ของผมก็เริ่มทนต่อความเงียบไม่ไหวตามประสาคนมนุษยสัมพันธ์ดี พี่แกก็เริ่มพยายามพูดภาษาอังกฤษอย่างกระท่อนกระแท่นเพื่อชวนผมคุย และพลันที่เขาพบว่าผมนั้นเป็นคนไทย ก็หยุดตัดผมอย่างกะทันหันพร้อมกับวิ่งไปหลังร้าน สักพักก็โผล่มาพร้อมกับปฏิทินซึ่งมีรูปสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในประเทศไทย และพูดกับผมพร้อมๆ กับเอานิ้วจิ้มรูปภาพทำนองว่า “นี่ๆ ที่นี่ไปเที่ยวมาแล้วนะ” ทำนองนั้น แล้วก็หันไปพูดกับภรรยาซึ่งกำลังตัดผมลูกค้าอยู่เช่นกันอย่างดีใจ …จากนั้นผมก็หมดโอกาสที่จะหลบเลี่ยงบทสนทนาด้วยการงีบหลับอีกต่อไป เพราะพี่แกหาเรื่องชวนผมคุยได้ตลอดเวลา ตั้งแต่เรื่องเรียน ไปจนถึงเรื่องสาเก ผมเองก็เริ่มเพลิดเพลินไปกับบทสนทนาที่เกิดขึ้น แม้นจะเข้าใจกันบ้างไม่เข้าใจกันบ้างก็ตามที

แม้นว่าเราจะมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร แต่นายช่างผู้นี้ก็รู้ถึงธรรมชาติของเส้นผมและความต้องการของลูกค้าเป็นอย่างดี ในกรณีของผมนั้นเขาใช้แต่กรรไกรในการตัดเท่านั้น แต่ด้วยฝีมือก็สามารถกระทำได้อย่างรวดเร็ว หากเปี่ยมด้วยความประณีตและละเอียดรอบคอบ หลังจากเสร็จเรียบร้อยผมจึงยิ้มแก้มปริอย่างพึงใจ และก็ขอปวารณาฝากตัวเป็นลูกค้าประจำของนายช่างผู้นี้ตั้งแต่บัดนั้นมาจนปัจจุบัน

หากจะมีเรื่องชวนอึดอัดใจก็คงมีเพียงว่า ในทุกๆ ครั้งที่ผมกลับไปใช้บริการ พี่แกก็จะเริ่มทักผมด้วยคำถามที่ว่า “อ้า…ครั้งนี้มาตัดเป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้วนะ?” ขณะที่ผมทำท่าครุ่นคิด แกก็จะชิงตอบก่อนทุกครั้งว่า “นี่ ครั้งเป็นครั้งที่…เท่านั้นเท่านี้…แล้วนะ” แล้วก็ยิงคำถามที่ชวนให้ผมกระอักกระอ่วนใจว่า “แล้วตอนนี้ภาษาญี่ปุ่นพัฒนาไปถึงไหนแล้ว?” …ผมทำได้แต่เพียงยิ้มแหยๆ ทุกครั้งไป

ผลงานการสร้างสรรค์ของช่างผู้นี้มิได้นำความพอใจมาแก่ผมเท่านั้น หากแต่เพื่อนผมหลายๆ คนต่างก็ชมว่าฝีมือดี เลยพากันไปฝากตัวเป็นลูกค้าบ้าง เพราะนอกจากผลงานแล้วราคาก็ย่อมเยา ต่างจากร้านในย่านกลางเมืองซึ่งแม้นจะติดราคาว่า 1 พันเยน แต่ก็มีการจำกัดเวลา เช่น 1 พันเยนต่อครึ่งชั่วโมง หากตัดไม่เสร็จภายในครึ่งชั่วโมงเราก็ต้องเสียเงินเพิ่มไปตามเวลา

ในปัจจุบัน แม้นว่าผมจะย้ายที่พักแล้ว อีกทั้งใกล้ๆ หอพักก็มีร้านตัดผมราคาถูก คือ 980 เยน ก็ตาม …แต่เมื่อเห็นผลงานผมก็ไม่คิดเปลี่ยนใจไปลองของใหม่ (เพราะแม้นจะราคาถูก แต่ผมรับไม่ได้กับการมีทรงผมแบบเว้าๆ แหว่งๆ ไม่เท่ากัน) …กลับยอมถ่อนั่งรถไฟไปตัดกับนายช่างคนเดิมของผมตลอดระยะเวลาของการเรียนที่นี่

…ในเมื่อบุรุษไปรษณีย์ยังมี The Carpenters แต่งเพลง “Please, Mr. Postman” ให้ แล้วทำไมนายช่างของผมถึงไม่มีใครแต่งเพลง “Oh! My Barber Man” ให้สักทีน้า…

ชาต้นใหม่ Sunday, December 2, 2007 7:04:11 PM

มีช่วงหนึ่งของชีวิตที่ผมเคยละทิ้งความฝันและทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อกลับไปใช้ชีวิตอย่างสงบ ณ บ้านเกิด …แม้นที่สุดแล้ว ความตั้งใจดังกล่าวจะล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่ห้วงเวลาของการ “ฝังตัว” ครั้งนั้น ก็ทำให้ผมมองเห็นถึงวัฒนธรรมที่มีความเข้มแข็งยิ่งในหมู่คนไทยเชื้อสายจีน นั่นคือ การตั้งวงดื่มน้ำชา

ในเบื้องแรกของการกลับไปบ้านเกิดนั้น ผมซึ่งคุ้นชินกับชีวิตในเมืองหลวงมานานจำต้องปรับตัวอย่างขนานใหญ่ เนื่องจากกลุ่มเพื่อนผู้คนที่เราคุ้นเคย ที่เราจะพูดคุยได้ หรือที่เรารู้สึกถึงอัตลักษณ์ร่วมนั้นไม่มีอีกต่อไป …ความรู้สึกโดดเดี่ยวในบ้านเกิดตัวเอง ก็ค่อยๆ บีบบังคับมนุษย์ธรรมดาอย่างผมให้รู้จักการปรับตัว และสร้าง “มิตรใหม่” (new circle) รอบๆ ตัวขึ้นอีกครั้ง …บุคคลกลุ่มแรกที่ผมกระโจนเข้าหาเพื่อทำลายความเปลี่ยวเหงาในชีวิตก็คือ วงน้ำชา ซึ่งมีฐานที่มั่น ณ บ้านผมนั่นเอง

อันที่จริงแล้ว วงน้ำชา ประจำบ้านผมนั้นถือเป็นสิ่งปกติธรรมดาที่ชินตามาตั้งแต่เด็ก ราวกับว่ามันเป็นส่วนหนึ่ง เป็นองค์ประกอบหนึ่งของบ้านเราเลยทีเดียว …แต่ด้วยวัยที่ยังเด็ก หรือกระทั่งตอนวัยรุ่น ผมไม่เคยรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของ “ชุมชนเล็กๆ” ดังกล่าวเลย หากแต่มองว่ามันเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เป็นสังคมของผู้ใหญ่ อีกทั้ง “ชาจีน” มันจะมีรสชาติดึงดูดใจไปกว่าน้ำอัดลมสีสันสดใสได้อย่างไร

กลุ่มคนที่แวะเวียนกันมาตั้งวงน้ำชา โดยมากก็ได้แก่กลุ่มญาติสนิทมิตรสหายของพ่อผมนั่นเอง หากจะมี “ขาจร” หลงเข้ามา คนภายในวงน้ำชาก็ยินดีต้อนรับมิตรใหม่ด้วยชาร้อนๆ ส่งกลิ่นหอมในจอกใบเล็กๆ เสมอ …แม้นว่า วงน้ำชาดังกล่าวจะมิได้มีระเบียบการหรือข้อบังคับสมาชิกภาพเป็นลายลักษณ์ แต่เหล่าสมาชิกประจำก็ดูจะรู้หน้าที่ความรับผิดชอบของตนเป็นอย่างดี …การลวกป้านและจอกด้วยน้ำร้อน การเปลี่ยนใบชา การรินน้ำชา หรือการเสิร์ฟชา เหล่านี้ได้ถูกจัดสรรแบ่งส่วนหน้าที่อย่างเป็นระบบระเบียบ …แม้ในยามที่พ่อผมไม่อยู่บ้าน กิจกรรมวงน้ำชาก็ยังคงดำเนินไปตามปกติ ดำเนินไปทุกเมื่อเชื่อวัน วันละสองรอบ (รอบสาย และรอบบ่าย)

หลังจากกระทำตัวเป็น “ผู้สังเกตการณ์” ได้พักใหญ่ ผมก็ค่อยๆ ถูกดึงดูดเข้าไปสู่ “วงการ” โดยตั้งต้นจากการทำหน้าที่เป็น “เด็กเติมน้ำร้อน” …พอเริ่มคุ้นเคยและหยิบจับอุปกรณ์ได้คล่องมือ จึงพัฒนาไปสู่หน้าที่ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญมากขึ้น

ในระยะของการทำตัวเป็น “สมาชิกสมทบ” นั้นเอง ผมได้เริ่มเรียนรู้และซึมซับศิลปะ ตลอดจนวิธีการเตรียมน้ำชาจากเหล่า “จอมยุทธ์” ทั้งหลายโดยไม่รู้ตัว …แต่ที่สำคัญ …ทีละเล็ก ทีละน้อย คนซึ่งติดในรสกาแฟอย่างผมก็ค่อยๆ หันเหมาชมชอบในรสชาติของ “ชาจีน” มากขึ้น

…ท้ายที่สุด ในวันหนึ่งซึ่งพ่อไม่อยู่บ้าน ผมก็สบโอกาสที่จะแสดงฝีมือในการเตรียมน้ำชาตั้งแต่ต้นจนจบ …หัวใจสำคัญที่ผมเรียนรู้จากเหล่าจอมยุทธ์ผู้มากประสบการณ์ก็คือ “ทุกอย่างต้องร้อน” …น้ำร้อนจึงถูกเทอย่างไม่เสียดายลงไปภายในป้านชาจนทะลักออกมา และยกป้านขึ้นเทลงไปในจอกเล็กๆ จนปริ่มล้น ยกจอกใบหนึ่งขึ้นวางตะแคงบนจอกอีกใบหนึ่งและค่อยๆ หมุนวนเพื่อทำความสะอาด และเวียนทำซ้ำจนครบทุกๆ จอก …จากนั้นจึงคว่ำลงบนถาดและยกออกไปเตรียมไว้ ส่วนป้านที่ยังอุ่นๆ นั้นก็ถึงเวลาสำหรับบรรจุใบชา ต่อด้วยการรินน้ำร้อนลงไปภายในป้าน…ปิดฝา…และรินทิ้งอย่างรวดเร็วเพื่อ “ปลุก” ใบชาที่งอม้วนให้คลี่คลายตัวเองออกมา พร้อมๆ กับเป็นการกำจัดฝุ่นผงหรือเศษแตกหักของใบชาออกไป

…และช่วง “วัดฝีมือ” จริงๆ ก็เริ่มขึ้น เริ่มจากการหงายจอกขึ้นเรียงชิดติดกัน และเติมน้ำร้อนลงไปในป้านอีกครั้งพร้อมกับคำนวณระยะเวลาให้แม่นยำ จากนั้นก็ใช้นิ้วกลางและนิ้วนางเกี่ยวหูของป้านชาขึ้นมา ขณะที่นิ้วโป้งนั้นจะต้องกดลงไปบนปุ่มกลมที่มีรูตรงกลางบนฝาป้านซึ่งทำหน้าที่เป็น “วาล์วปิด-เปิดน้ำ” …ในการรินน้ำชา ก็จะต้องตะแคงป้านลง พร้อมกับคลายนิ้วโป้งเพื่อ “เปิดวาล์ว” และหมุนวนอย่างรวดเร็วสลับไปมาขณะที่น้ำชาไหลลงจอก เพื่อให้น้ำชานั้นมีความเข้มข้นสม่ำเสมอกันในทุกๆ จอก…

ภายหลังจากได้อวดฝีมือหลายต่อหลายครั้ง ผมก็ค่อยๆ เปลี่ยนสถานะจากคนวงนอกเข้าสู่ยุทธจักรวงน้ำชาอย่างเต็มตัว และในวันหนึ่งขณะที่ผมกำลังเตรียมน้ำชาอยู่นั้น ผู้อาวุโสแห่งวงน้ำชา ซึ่งเป็นเจ้าของ “วงน้ำชารอบค่ำ” ประจำชุมชนมาช้านานก็ได้เอ่ยประโยคหนึ่งขึ้นมาเป็นภาษาจีน พูดจบก็ถอดความเป็นภาษาไทยให้ผมได้เข้าใจ ว่า…

“ชาต้นใหม่ ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว”

ประโยคดังกล่าว จึงเปรียบเสมือนกับคำรับรองความเป็น “สมาชิกถาวร” ของวงน้ำชาแห่งนี้นั่นเอง …ความรู้สึกในตอนนั้นจึงไม่ต่างจากการที่ผมสามารถผ่านด่านอรหันต์มนุษย์ทองคำ และเข้าสู่พิธีกรรมสุดท้าย โดยการเอาท่อนแขนด้านบนนาบไปบนกระถางธูปยักษ์ร้อนๆ เพื่อรับตราประทับความเป็นผู้สำเร็จวิชาแห่งวัดเส้าหลิน

=================