กว่าจะ (อด) เป็นมารบูรพา ภาคต้น

ยามสายวันอาทิตย์ ผมได้รับข้อความจากคนคุ้นเคยผ่านทาง Social Network หลายข้อความ ที่น่าสนใจคือ เกือบจะทั้งหมดมันเป็นข้อความที่เกี่ยวพันกับอดีตและความหลังของตนเอง วันนี้ทั้งวันเลยทำให้ผมนั่งคิดนั่งนึกถึงเรื่องราวต่าง ๆ ของตนครั้งยังอยู่ในวัยละอ่อน

หนึ่งในข้อความที่กลายมาเป็นข้อเขียนวันนี้มาจากเพื่อนเก่าเพื่อนแก่สมัยมัธยมที่ไม่ได้ติดต่อกันมาเนิ่นนานมาก เธอส่งข้อความขนาดยาวเพื่อเล่าเรื่องราวลูกชายวัยรุ่นของเธอ สาระสำคัญอยู่ที่ว่า เจ้าลูกชายคนนี้พักหลังเกเรมาก ไม่สนใจการเรียนจนคนเป็นแม่ก็ห่วงว่าจะสอบเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในคณะวิชาที่ต้องการไม่ได้ เรื่องนี้มันมาเกี่ยวกับผมก็ตรงที่ว่า เพื่อนคนนี้ได้ใช้เรื่องราวของผมสมัยวัยรุ่นตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาเป็น “อุทาหรณ์สอนใจ” เพื่อเป็นแรงผลักแรงดันแก่ลูกชายของเธอ และเหตุที่เธอส่งข้อความมา ก็คงเพราะเรื่องราวของผมมันดูจะได้ผล เป็นแรงส่งให้ลูกชายเธอหันกลับมาตั้งใจเรียนในช่วงโค้งสุดท้ายหรือเพียง 1 เดือนก่อนการสอบ จนสามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้ตามที่ตั้งใจเหมือนกับกรณีของผมในครั้งอดีต

เรื่องราวสมัยเรียนครั้งนั้น ผมเคยพูดเคยเล่าให้คนสนิทสนมฟังในหลายวาระ แต่จากเหตุการณ์เมื่อตอนสายก็เลยคิดจะเขียนเก็บเอาไว้ “กันลืม” ไม่ได้คิดจะให้เป็นอุทาหรณ์สอนใจใครแต่อย่างใด แต่ที่บันทึกไว้ก็เพื่อจะสะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดของเด็กวัยรุ่นสมัยนั้นซี่งมันสัมพันธ์อย่างยิ่งกับบริบททางสังคมในระยะปลาย 1980s ถึงต้น 1990s และมีความแตกต่างอย่างมหาศาลจากยุคปัจจุบัน

จะว่าไป เรื่องราวของผมสมัยมัธยมปลายมันก็คงคล้าย ๆ กับเด็กยุคนั้นจำนวนมาก คือ มันเป็นเรื่องของเด็กที่ไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้ว่าตนควรจะเรียนอะไรเพื่อไปเป็นหรือไปทำอะไรในอนาคต แต่อาศัยว่าเศรษฐกิจตอนนั้นกำลังเติบโต การแข่งขันแม้จะเริ่มสูงขึ้นแต่คงต่างจากยุคปัจจุบันมาก กติกาตอนนั้นมันเหมือนกับทุกอย่างจะถูกวัดด้วยการสอบ และการสอบที่สำคัญที่สุดคือ “การสอบ Entrance เข้ามหาวิทยาลัยปิด” หากสอบเข้าไปได้และเรียนจบจนได้ปริญญาก็เป็นหลักประกันชั้นดีในการมีอนาคตที่ดี …เรื่องราวมันวางอยู่บนโครงเรื่องแบบนี้

ตอนเด็ก ๆ ผมเองก็คงจัดอยู่ในกลุ่มเด็กที่เรียนหนังสือดี แต่เก่งหรือไม่นั้นไม่รู้ อาศัยว่าสอบได้คะแนนดี เกรดเฉลี่ยดี ก็นับว่าเรียนดี คือโดยส่วนตัวผมไม่ใช่คนขยันหมั่นเพียรอะไร อาศัยว่าตอนเด็ก ๆ เป็นคนค่อนข้างรับผิดชอบ คือพ่อแม่ให้เรียนก็เรียนไป ครูให้ทำอะไรก็ทำไป ถึงเวลาสอบก็สอบไป ผลการเรียนมันก็เลยดี …แต่อย่ามาถามว่าไอ้ที่เรียน ๆ นี่ชอบมั้ย ก็ตอบตรง ๆ ว่าไม่รู้ คือก็ไม่ได้เกลียดการเรียนแต่ก็ไม่ได้หลงรักวิชาใดเป็นการเฉพาะ สรุปคือ เรียนไปงั้น ๆ

แต่เหตุการณ์มาเริ่มเปลี่ยนก็ตอนสมัยขึ้นชั้นมัธยม 5 ซึ่ง “rules of the game” ตอนนั้นก็คือ พวกเราต้องเตรียมตัวสอบสำหรับเข้ามหาวิทยาลัยกันล่วงหน้าได้แล้ว แต่ก็พึงสนใจเฉพาะวิชาที่ต้องใช้สอบในคณะวิชาที่กำหนดก็พอ วิชาอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวก็ทิ้ง ๆ ไป ส่วนการเรียนในชั้นเรียนก็ไม่จำเป็นนัก เอาเวลาไปอ่านหนังสือทดลองทำข้อสอบดีกว่า เพื่อนหลายคนจึงเรียน กศน. เพื่อสอบเทียบจะได้ลองสอบเข้ามหาวิทยาลัยตั้งแต่จบชั้นมัธยม 5 ได้เลย ส่วนผมยังรักษา concept คือ เรียนไปงั้น ๆ ไม่ได้มีแรงผลักให้ต้องขวนขวายมากขนาดนั้นจึงไม่ได้เรียน กศน. และสอบเทียบอะไรกับเค้า

เมื่อขึ้นชั้นมัธยม 5 เพื่อนกลุ่มผมจะมีอาการร่วมนั่นคือ เริ่มจะสนใจการเรียนในชั้นเรียนน้อยลง เล่นกันมากขึ้น อาศัยว่าเดี๋ยวค่อยไปวัดกันตอนสอบ จึงเริ่มมีอาการเกเรเกิดขึ้น …แต่คำว่า “เกเร” ในครั้งนั้นก็ไม่ได้มีอะไรมากมาย คือ “เล่น” กันมากกว่าเรียน ไม่ได้ไปติดยาเสพติดหรือไปทำเรื่องในลักษณะ “เสียผู้เสียคน” อะไร มากสุดคือ ไม่ค่อยเข้าเรียน เข้าเรียนก็ไม่ค่อยสนใจเอาแต่เล่น ต่อมาก็ตั้งแก๊งค์จักรยานยนต์ แต่ก็ไม่ได้ไป “แว๊น” แบบสมัยนี้ แต่พวกเรานั้นชอบเที่ยว เน้นขับขี่รถข้ามจังหวัดข้ามเมืองไปเที่ยวกันในวันหยุด จะดูเกเรมากสุดคือ พวกเราเริ่มชอบไปเที่ยว “เธค” ยามค่ำคืน ณ จังหวัดข้างเคียง ผลสรุปก็คือ เกรดเฉลี่ยตกลงไปคนละประมาณ 1.0 คือจากเด็กที่ได้เกรดเฉลี่ยแถว ๆ 3.7 – 3.9 ก็ลงมาแถว ๆ 2.7 กันถ้วนหน้า แต่เราก็ไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไรเพราะวิชาหลัก (อันหมายถึงวิชาที่ต้องใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย) ก็ยังดีอยู่

หลังจบชั้นมัธยม 5 เพื่อนหลายคนก็ออกจากโรงเรียน เนื่องจากสอบเทียบได้แล้วก็เลยออกไปตั้งหน้าตั้งตาอ่านหนังสือเตรียมสอบ โดยมีบางส่วนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้วก็มีทั้งลองเรียนแต่ก็กะจะสอบใหม่ แต่โดยมากจะรอสอบใหม่เพื่อให้ได้คณะวิชาที่ใฝ่ฝัน ห้องเรียนจึงโหรงเหรง ผมเองซึ่งไม่สนใจสอบเทียบก็เรียนหนังสือชั้นมัธยม 6 ต่อไปแบบเนือย ๆ ผสมว้าวุ่นใจแต่ก็ไม่รู้จะจัดการกับตนเองอย่างไร

ตอนนั้นมันเหมือนกับมีบรรยากาศรอบข้างที่ดูจะกดดันตลอดเวลาว่า ต้องตั้งใจและมุมานะในการเตรียมสอบวัดชะตาชีวิต แต่ผมกลับได้แต่คิดแต่ไม่ลงมือทำอะไรสักอย่าง แม้จะบอกตนเองว่า “สมัยมัธยม 5 เราเล่นมาพอแล้ว ตั้งใจได้แล้ว” แต่มันกลับไม่มีแรงผลักอะไรสักอย่างให้กลับมาตั้งใจเตรียมสอบ

ย้อนกลับมาคิดถึงตนเองครั้งนั้นคงเพราะว่า ผมเองเอาเข้าจริงก็มิใช่เป็นคนทะเยอทะยานอะไร คือเป็นคนเรื่อย ๆ เปื่อย ๆ ครอบครัวเองก็ทำธุรกิจอยู่ในเมืองเล็ก ๆ ก็เห็นพ่อและแม่มีชีวิตที่ดี พี่ชายพี่สาวและคนอื่น ๆ รอบตัวผมก็เห็นเรียนจบมหาวิทยาลัย แต่ท้ายที่สุดก็กลับมาทำธุรกิจอยู่ที่บ้านเกิดกันเสียเป็นส่วนใหญ่ ผมจึงเห็นตัวอย่างและยอมรับแบบแผนชีวิตเช่นนี้กระมัง แต่ในพื้นที่โรงเรียน กลับมีแรงกดดันอีกอย่าง คือ หากเรียนดีต้องเรียนสายวิทยาศาสตร์ และต้องสอบเข้าคณะวิชาดี ๆ อย่างแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ หรือสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่น ๆ

ตลอดปีสุดท้ายของการเรียนมัธยม ผมจะเนือย ๆ และงง ๆ กับตนเองว่าจะเอาอย่างไรดี คือจริง ๆ ตนเองไม่เคยคิดหรือใฝ่ฝันว่าจะ “เป็น”อะไร รู้แต่ว่าชอบที่จะ “อยู่” แบบไหน มันเลยขัดกันระหว่างการชอบชีวิตเนือย ๆ สบาย ๆ กับแรงกดดันภายนอกที่คาดหวังให้เราไป “เป็น” นู่นนี่นั่น แต่จะเป็นได้นั้นก็ต้องสอบเข้าคณะวิชาที่เค้าว่ากันว่ามันจะทำให้เรามีอนาคตที่ดี …แต่ครั้งนั้นผมคงไม่ได้คิดอะไรมากขนาดนี้หรอก รู้แต่ว่ามันเนือย ๆ เบื่อ ๆ ไม่รู้สึกอยากจะอ่านหนังสือเตรียมสอบอะไร แต่ก็รู้สึกผิดรู้สึกกดดันอยู่บ้างที่เห็นคนอื่น ๆ เค้าตั้งอกตั้งใจ …แต่โดยสรุป ก็คือ ผมขี้เกียจ วัน ๆ เอาแต่นั่งวาดรูปและฟังเพลงไปตามเรื่อง

แต่แรงกดดันมาเพิ่มขึ้น ภายหลังการประกาศผลสอบโควต้าเข้ามหาวิทยาลัยในภูมิภาค กล่าวคือ เด็กโรงเรียนต่างจังหวัดจะมีสิทธิในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยภูมิภาคของตนก่อนการสอบใหญ่ ผมยอมรับว่าผมไปสอบโดยไม่อ่านหนังสือหรือเตรียมตัวอะไรเลยแม้แต่นิดเดียว แถมช่วงสอบก็ห่วงแต่เที่ยวเล่น สุดท้ายก็สอบไม่ติดอะไรกับเค้า …ก็นับว่าเป็นไปตามความคาดหมาย

แต่หลังจากนั้นแรงกดดันก็เหมือนจะเพิ่มขึ้นมหาศาล กล่าวคือ ผมและเพื่อนที่ชอบเที่ยวเล่นด้วยกันเริ่มจะมีอาการ “จ๋อย” เพราะเห็นคนอื่น ๆ เค้าสอบได้กันและมีที่เรียนแน่นอนแล้ว แถมครูบาอาจารย์ก็เพิ่มแรงกดดันเข้าไปอีกด้วยการตำหนิพวกผมว่าเอาแต่เล่น ซึ่งพวกเราก็น้อมรับโดยดี

สำหรับผมโดยส่วนตัวแม้จะรู้สึกอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ทุกข์ใจอะไรมากมาย เพราะตอนนั้นคิดแต่เพียงว่า สอบได้ก็ดี สอบไม่ได้ก็เข้ามหาวิทยาลัยเปิดหรือเอกชนไป เรียนพอได้ปริญญาและมีประสบการณ์ชีวิตบ้าง ท้ายสุดคงมา “ทำมาหากิน” ณ บ้านเกิดตนเองอยู่ดี คิดแบบนั้นจริง ๆ

แต่อาการกดดันจนทำให้ตนรู้สึกเศร้า คงมาจาก “จดหมายน้อย” ของแม่ …ในวันหนึ่งหลังกลับจากโรงเรียนผมก็เห็นจดหมายเขียนด้วยลายมือแม่วางอยู่บนโต๊ะอ่านหนังสือของผม เนื้อความมีอยู่ประมาณว่า พ่อและแม่รู้สึกเสียใจที่ผมเปลี่ยนไป ไม่ตั้งใจเรียนและรับผิดชอบเหมือนเมื่อก่อน ตอนนี้พ่อและแม่เป็นห่วงผมมาก …หลังอ่านจบผมก็รู้สึกตัวชาและเศร้ากับตนเอง

ตั้งแต่เด็กจนโต พ่อกับแม่ผมไม่เคยเข้ามายุ่งเรื่องการเรียนของผมเลยแม้แต่นิดเดียว ไม่เคยจ้ำจี้จ้ำไชให้อ่านหนังสือ ไม่เคยแม้แต่พูดในลักษณะกะเกณฑ์ว่าจะต้องเรียนอะไรเพื่อไปทำอะไร ทั้งคู่คอยแต่สนับสนุนผมในทุกทางที่ผมเดินก็แค่นั้น แต่จดหมายของแม่นับเป็นครั้งแรกที่พ่อและแม่แสดงความเป็นห่วงเรื่องการเรียนของตัวผม ทั้งที่ในอดีตผมก็จัดการและรับผิดชอบได้ดี แต่ครั้งนี้แม่กลับรู้สึกกังวลใจว่า “ก้องเปลี่ยนไป”

…มันก็คงไม่เหมือนกับในภาพยนตร์หรอกครับ ที่พอผมอ่านจดหมายของแม่จบก็เกิดแรงฮึดตั้งอกตั้งใจและเปลี่ยนแปลงตนเอง …ตรงข้าม ผมก็เนือย ๆ ของผมต่อไปผสมอาการว้าวุ่นใจด้วยความรู้สึกผิดที่มากขึ้นก็เท่านั้น …หลังจากการสอบปลายภาควิชาสุดท้ายและจบชีวิตนักเรียนมัธยมนั่นแหละ ผมถึงมาเริ่มอ่านหนังสือ

เหตุก็ไม่มีอะไรเพียงแค่รู้สึกว่า อย่างไรเสียก็ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ จะคณะวิชาอะไรก็ช่างมัน ขอเพียงแค่ไม่ทำให้พ่อแม่เสียใจก็พอแล้ว และมันก็สะท้อนออกมาผ่านการเลือกคณะวิชาของผม คือ ครั้งนั้นเราสามารถเลือกอันดับคณะวิชาที่ต้องการได้ทั้งหมด 5 อันดับ ส่วนจะได้อันไหนก็ขึ้นกับผลคะแนน …ผมจึงปรึกษาเหล่าเพื่อน ๆ ที่มีตารางเทียบคะแนนของผลการสอบปีก่อนมาช่วยลงคณะให้ผม

…เพื่อนคนแรก (สอบติดไปแล้วแต่กำลังจะสอบใหม่) ก็แนะนำว่า ให้ลงคณะนี้มหาวิทยาลัยนั้นเป็นอันดับที่ห้า เพราะคะแนนไม่สูงนัก น่าจะสอบติด และจากประสบการณ์ที่มันเคยสอบติดคณะนี้มาแล้วตั้งแต่จบมัธยม 5 ก็พบว่า สาว ๆ คณะนี้หน้าตาดี ควรเลือก คือ เรียนแล้วไม่ชอบก็ไม่เป็นไร แต่บรรยากาศน่าจะดี

…เพื่อนอีกสองคนที่สอบติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ตั้งแต่ตอนสอบโควต้าก็หยิบปากกามากรอกใบสมัครให้ผม บอกว่า “ไอ้ก้อง มึงต้องไปเรียนกับกู” …เป็นอันว่า อันดับสามและอันดับสี่เพื่อนผมเลือกให้เสร็จ

…ส่วนเพื่อนสนิทที่เที่ยวเล่นด้วยกันมานาน บอกว่า “ก้องเราต้องไปเรียนวิศวะที่…ให้ได้ และมึงต้องไปเรียนกับกู กูเลือกเป็นอันดับหนึ่งเลยนะ” …สรุป อันดับหนึ่งเพื่อนสนิทผมก็เลือกให้

…คงเหลืออันดับสอบ 2 ที่ยังว่างอยู่ ผมจึงเอาตารางคะแนนมานั่งทาบ ๆ ดูก็เห็นอยู่ 2-3 คณะวิชา แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำได้ว่ามีนิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ที่คะแนนสอบเข้าพอ ๆ กัน ท้ายสุดผมก็เลือก “รัฐศาสตร์” ด้วยเหตุผลที่ไม่เป็นเหตุผลคือ นิติศาสตร์ กับเศรษฐศาสตร์ พอจะรู้อยู่บ้างว่าเค้าเรียนอะไร แต่รัฐศาสตร์นี่มันคืออะไร แถมชื่อก็แลดูเพราะดี เอาคณะนี้ก็แล้วกัน

ภายหลังมาเล่าให้เพื่อนฟัง หลายคนก็ขำ ผมเองนึก ๆ ไปก็ขำ แต่มันก็สะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบการแนะแนวการศึกษาต่อในห้วงเวลานั้น คือ ตามประสาเด็กสายวิทย์ หากหลุดจากแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่รู้อะไรแล้วว่าคณะวิชาอื่น ๆ เค้าเรียนอะไรกัน เรียนแล้วไปทำอะไร ประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง …ไม่รู้อะไรเลย

ส่วนเรื่องเตรียมสอบ ผมเริ่มต้นนับหนึ่งหลังจากจบชีวิตมัธยม และผมก็นับวันบนปฏิทินพบว่า ตนเองมีเวลาเตรียมตัวทั้งสิ้น 29 วัน และผมก็เชื่อเพื่อนที่บอกว่า วิชาอื่นอ่านให้ตายก็เท่านั้น คะแนนคงไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก แต่ควรจะเน้นอ่านวิชาเคมีซึ่งหลายคนมองข้าม เพราะเป็นวิชาประยุกต์ผสมความจำ หากทำได้ดีจะได้คะแนนค่อนข้างสูง สรุปคือ 29 วันผมอ่านเฉพาะวิชาเคมี

กิจวัตรของผมในระยะนั้นก็ลงตัวดี คือเริ่มต้นอ่านหนังสือประมาณ 4 ทุ่ม อ่านไปเรื่อย ๆ พักบ้าง ฟังเพลงบ้าง จนกระทั่งถึงเช้า จากนั้นก็ทานข้าวเช้าและช่วยงานแม่ ประมาณก่อนเที่ยงก็เข้านอน มาตื่นอีกครั้งก็ตอนเย็น จากนั้นก็ทานข้าว ดูทีวี ขี่จักรยานยนต์เที่ยวเล่นบ้าง พอสี่ทุ่มก็กลับมานั่งอ่านหนังสือใหม่

พอใกล้วันสอบ ผมและเพื่อนอีกสองคนรวม 3 ชีวิตก็ตกลงที่จะเดินทางไปสอบด้วยกันที่จังหวัดขอนแก่น พวกเราจองห้องพักที่โรงแรมจิ้งหรีดแห่งหนึ่ง เวลาไปสอบก็อาศัยเพื่อนคนอื่น ๆ ที่มาล่วงหน้าและมีรถจักรยานยนต์ซ้อนท้ายไปสอบ ณ โรงเรียนประถมที่ใช้เป็นหนึ่งในสนามสอบ

จำได้ว่า วิชาเคมีเป็นวิชาแรก ๆ ของการสอบ และหลังการสอบเสร็จ ผมก็ไม่รู้ไปเอาความมั่นใจมาจากไหนว่า “กูสอบติดมหาวิทยาลัยแน่ ๆ” การสอบวันหลัง ๆ ผมกลับไม่กดดันอะไร ไปเรื่อย ๆ ของมัน จนกระทั่งการสอบวิชาสุดท้ายนั่นคือ ความถนัดทางวิศวกรรม

จริง ๆ ก็ไม่อยากจะกล่าวถึงเรื่องนี้ เพราะอาจทำให้คนเข้าใจผิดไปได้ แต่ที่อยากบันทึกเพื่อให้เห็นถึงความนึกคิดของเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง และการตัดสินใจของเด็กคนนั้นว่ามันวางอยู่บนฐานคิดอะไร แต่เหนือสิ่งอื่นใด เรื่องนี้มันอาจจะเกี่ยวกับชีวิตของผมในห้วงเวลาต่อมาอีกยาวนาน (จนถึงปัจจุบัน)

โดยเหตุที่วิชาความถนัดทางวิศวกรรมเป็นวิชาที่ผมต้องสอบเนื่องจากเพื่อนที่แสนดีได้กรอกเลือกให้ผมไว้ จำไม่ผิดวิชานี้ต้องสอบตอนบ่ายแก่ ๆ และไม่ใช่ทุกคนต้องสอบ ห้องสอบก็มีนักเรียนไม่เต็มห้องเหมือนวิชาอื่น ๆ คงเพราะเป็นวิชาสุดท้ายกระมัง ระหว่างการนั่งสอบ อยู่ดี ๆ ผมก็รู้สึกว่า “กู เหนื่อยแล้ว” คือย้อนคิดกลับไปถึงวันนี้ผมก็ยังไม่เข้าใจตนเองว่าเป็นอะไรหรือคิดอะไร จำได้เพียงว่า ผมรู้สึกเหนื่อยและเบื่อการสอบแล้ว อยากจะออกจากห้องสอบไปให้พ้น ๆ และไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนมากกว่า และอยู่ดี ๆ ผมก็เลิกทำข้อสอบ นั่งฝนคำตอบข้อ ค. และนั่งรอจนครบครึ่งชั่วโมง จากนั้นก็เดินเอากระดาษคำตอบไปส่งและออกจากห้องไปโดยไม่มีเหตุผลอะไร นอกจากคำพูดที่บอกกับตนเองว่า “กู เหนื่อยแล้ว”

การกระทำของผมไม่พ้นหูพ้นตาของเพื่อนสนิทที่ร่วมสนามสอบ มันถึงกับพูดว่า “ทำไมมึงไม่ตั้งใจสอบ มึงไม่อยากไปเรียนกับกูหรืองัยวะ” จนถึงวันนี้ ผมเองก็หา “ความเป็นเหตุเป็นผล” ในการกระทำของตนไม่ได้ จำได้แต่ความรู้สึกว่าเหนื่อย และนึกถึงแต่ภาพของตนเองว่า หลังสอบจะขี่รถจักรยานยนต์ ให้ลมเย็น ๆ มันโบกพัดเข้าหน้า เท่านั้นเอง

…หลังสอบเสร็จ ผมก็ไม่มีความทรงจำอะไรอีกเลย กลับมาถึงบ้านผมไม่สนใจติดตามหรือรอผลการสอบเลยด้วยซ้ำ เพื่อนฝูงก็ไม่ได้พบ ความคิดเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมันไม่อยู่ในห้วงความคิดของผมอีกต่อไป …เพราะมันจบไปแล้วมั้ง

ในทุกช่วงฤดูร้อน พ่อผมมักจะพาลูก ๆ พ่วงด้วยเหล่าบรรดาลูกพี่ลูกน้องของผมไปเที่ยวทะเลกันเป็นประจำทุกปี ครั้งนั้นจำได้ว่าเราไปเที่ยวระยอง หลังจากพักคืนแรกที่รีสอร์ทเปิดใหม่แห่งหนึ่ง คืนที่สองพ่อก็พาย้ายไปพักอีกโรงแรมหนึ่ง ระหว่างรอพ่อจัดการเช็คอินเข้าโรงแรมผมก็ออกไปเดินเล่นกับพี่ ๆ น้อง ๆ สักพักพี่สาวก็เดินมาบอกว่า “แสดงความยินดีด้วยนะเด็กธรรมศาสตร์” มาทราบความภายหลังว่า แม่ซึ่งอยู่ที่บ้านได้รับจดหมายบอกผลสอบ จึงส่งข้อความมาทางเพ็จเจอร์ให้พ่อโทรกลับเพื่อบอกข่าว ก็นับเป็นข่าวดีที่ผมและลูกพี่ลูกน้องที่เรียนด้วยกันมาตั้งแต่เด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ทั้งคู่

ที่ผมจำได้แน่ ๆ ก็คือ คำทักทายจากพี่สาวที่แสดงความยินดีกับผม มันทำให้ผมตอนนั้นเพิ่งนึกออกว่า “เออ…ใช่ ผลสอบเข้าออกแล้ว” คือ ตอนนั้นมันลืมไปจากความทรงจำจริง ๆ ไม่ได้สนใจอะไรเลย และพอทราบผล ผมก็มิได้ยินดียินร้ายอะไร ก็คิดเพียงว่า “ก็ดีแล้ว อย่างน้อยพ่อกับแม่คงไม่เสียใจ” …แค่นั้นเองจริง ๆ

คือผมก็ยังเนือย ๆ ของผมต่อไป กระทั่งตอนเข้ามาเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ ผมก็มาแบบเนือย ๆ เรื่อย ๆ เปื่อย ๆ ในแบบของผม คิดแต่ว่า เรียนให้มันจบ ๆ ได้ใบปริญญา จากนั้นคงหางานทำให้พอมีประสบการณ์แล้วค่อยกลับบ้านไปทำมาหากินแถวนั้น เหมือนกับแบบแผนของคนรอบตัวที่ผมคุ้นชิน จะมีเรื่องแปลกก็เพียงว่า คณะที่ผมสอบได้นั้น มันเป็นเพียงคณะเดียวที่ผมเลือกด้วยตนเอง แต่ที่เลือกก็ด้วยชื่อที่มันเพราะดี แต่ถามว่ามันเรียนเกี่ยวกับอะไร เรียนแล้วไปประกอบอาชีพอะไรได้บ้างนั้น …ไม่รู้จริง ๆ ถามว่า ตายแล้วไปไหนอาจจะง่ายกว่า

นิทานเรื่องนี้ ไม่ได้สอนอะไร ไม่ได้บอกอะไร มันเป็นเพียงเรื่องของเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง เติบโตมาแบบหนึ่ง ภายใต้บริบทจำเพาะทางสังคมในยุคสมัยหนึ่ง คงเทียบเคียงอะไรไม่ได้กับยุคสมัยนี้ …ผมยังเคยคิดเล่น ๆ ว่า หากตนเองเติบโตในยุคปัจจุบัน ผมจะเอาตัวรอดได้หรือไม่ …เรื่องทั้งหมดจึงเป็นเรื่องของผมที่ต้องการจะเก็บร่องรอยบางอย่างในห้วงเวลาหนึ่งเอาไว้  พร้อมกันนี้ก็พยายามจะทำความเข้าใจผ่านแว่นตาของตนที่โตขึ้น

ข้อสรุปสำหรับตนเองคือ เรื่องราวทั้งหมดผมจำได้แต่เพียงความรู้สึก แต่ไม่สามารถหาเหตุหาผลอธิบายการกระทำของตนเองได้ชัดเจนนัก มีเพียงสิ่งเดียวที่พอจะนับเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจหรือการดำเนินชีวิตของผม ณ ตอนนั้น (และรวมถึงในห้วงเวลาต่อมาอีกยาวนาน) ก็คือ “กูมีฟูกให้ล้มลงนอน” คือจะว่าไปทั้งตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย ตอนเรียนจบ หรือตอนเริ่มต้นทำงาน ผมยังมีความคิดอยู่ในห้วงคำนึงตลอดเวลาว่า “ทำ ๆ ไปก่อน สักพักค่อยกลับบ้าน” …ถึงวันนี้ แม้วิถีชีวิตและวิธีคิดของผมจะเปลี่ยนไปมากแล้ว แต่อาการคิดคำนึงถึงการ “กลับไปทำมาหากินแถวบ้าน” ก็ยังโผล่ขึ้นมาเป็นระยะ ๆ

Sunday, August 11, 2019: 23.42@Bangplub

2 thoughts on “กว่าจะ (อด) เป็นมารบูรพา ภาคต้น”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *