Generation Gap or Centreless Society?

ระยะสองสามปีที่ผ่านมา ผมค่อย ๆ เกิดความรู้สึกหนึ่งที่ชักจะรุนแรงขึ้นทุกวันและก็ได้เอ่ยเปรยกับเพื่อนร่วมวิชาชีพในหลายวาระ นั่นคือ “ผมชักจะไม่ค่อยเข้าใจเด็ก (นักศึกษา) มากขึ้นทุกวัน”

โปรดอย่าเข้าใจผิด คำเปรยข้างต้นมิได้เกิดขึ้นบนฐานของการพร่ำบ่นที่ผู้ใหญ่มักจะใช้เชิงตำหนิแก่เด็กรุ่นใหม่วัยอ่อนกว่าตนในทำนอง “เด็กสมัยนี้ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ทำไมถึงทำอย่างนั้น …ไม่เหมือนสมัยก่อน…” …ตรงข้าม คำเปรยของผมเกิดจาก “ความไม่เข้าใจ” จริง ๆ หมายความว่า ผมอยากจะรู้และอยากจะเข้าใจถึงความนึกคิด วิถีชีวิต ความคาดหวัง ฐานคติ และแบบแผนการใช้ชีวิตต่าง ๆ ของเขาเหล่านั้นด้วยความอยากรู้จริง ๆ …แต่ผมก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี

ระยะหลังผมจึงสนุกกับการมีโอกาสได้นั่งพูดคุยสนทนากับเหล่านักศึกษาปริญญาตรี และใช้โอกาสที่พอมีทั้งในและนอกชั้นเรียนสำหรับยิงคำถามต่าง ๆ เพื่อสนองความกระหายใคร่รู้ของตน

ตอนเริ่มอาชีพงานสอนใหม่ ๆ ซึ่งช่วงวัยระหว่างผมและผู้เรียนมีช่องว่างแตกต่างกันไม่มากนัก ผมจึงรู้สึกเป็นพวกเดียวกับเขาเหล่านั้น ไม่รู้สึกถึงความแตกต่างมากมายนัก หรือหากจะต่างอยู่บ้าง ผมก็พอจะทำความเข้าใจถึงความต่างที่เกิดขึ้นและลักษณะร่วมบางประการที่ปรากฏเด่นชัดในกลุ่มเด็กนักศึกษา

เพื่อนร่วมวิชาชีพคงพอนึกภาพออกว่า ในฐานะคนสอนหนังสือ กลุ่มคนที่เราต้องมีปฏิสัมพันธ์ด้วยนั้นก็มักจะอยู่ในช่วงวัยซึ่งคงที่ อาทิ หากสอนเด็กปริญญาตรี ช่วงวัยของคนเหล่านี้ก็จะอยู่ในราว 18 – 22 ปีโดยประมาณและอาจจะบวกลบนิดหน่อย …แต่ผู้สอนน่ะสิ อายุมันไม่คงที่…มีแต่เพิ่มมากขึ้น (แปลว่า เด็กอายุเท่าเดิม แต่คนสอนแก่ขึ้นทุกวัน) จึงทำให้ช่องว่างระหว่างวัยหรือ Generation Gap ระหว่างนักศึกษากับผู้สอนอย่างผมมันถ่างออกมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามปีที่ผันผ่าน

อาการไม่เข้าใจเด็กรุ่นใหม่นั้น ตอนแรกผมก็คิดว่ามันเป็นเรื่อง Generation Gap …แต่หลังจากสนทนากับเพื่อนร่วมวิชาชีพในตอนบ่ายแก่ ๆ วันนี้ ผมก็กลับมาขบคิดอย่างจริงจัง และในระหว่างขับรถกลับบ้านตอนค่ำหลังเลิกชั้นเรียน (ซึ่งในหัวก็ยังเอาแต่คิดเรื่องดังกล่าว) ผมก็ได้คำตอบขั้นต้นในใจ …คือผมก็ยังไม่เข้าใจเด็กรุ่นใหม่อยู่ดี แต่คำตอบที่ผมได้ ณ ตอนนี้ก็คือ ความไม่เข้าใจของผมนั้น มิได้เกิดจาก Generation Gap

…เหตุเพราะช่องว่างระหว่างวัยนั้นมันควรจะเกิดจากอาการของคนวัยหนึ่งที่ติดยึดในวิธีคิดและวิถีชีวิตของตน และไม่อาจ (หรือไม่ยอม) จะทำความเข้าใจถึงความต่างที่เกิดขึ้นในสิ่งเดียวกันนี้ของกลุ่มคนรุ่นอื่น ๆ …แต่กรณีผมมันตรงกันข้าม คือผมพยายามจะเข้าใจ แต่ก็มันเข้าใจไม่ได้สักที …กับดักที่ทำให้ผมหลงทางในการทำความเข้าใจเด็กรุ่นใหม่มันอาจเกิดจากการที่ผมพยายามจะแสวงหา “ลักษณะร่วมของ Generation” มากจนเกินไป นั่นคือ ความไม่เข้าใจของผมน่าจะมีที่มาจากสภาวการณ์ปัจจุบันที่เด็กใน Generation ใหม่ ๆ นั้นอาจไม่มีลักษณะร่วมที่ปรากฏเด่นชัดก็เป็นได้ หากแต่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย

ความคิดหนึ่งที่โผล่ขึ้นมาระหว่างขับรถก็คือ สถานการณ์หนึ่งที่เป็นฐานคิดของมโนทัศน์ในแบบ “Governance” ที่ผมใช้สอนนักศึกษาทั้งในชั้นเรียนตอนบ่ายและยามค่ำวันนี้ นั่นคือ “สภาวะสังคมไร้ศูนย์กลาง” หรือ “Centreless Society” เมื่อเอามาปรับประยุกต์ใช้กับประเด็นนี้ มันอาจจะช่วยคลำหาคำตอบก็เป็นได้

หากจะนับไปผมเองนั้นจัดอยู่ในกลุ่ม Generation X ซึ่งเข้าสู่วัยรุ่นและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในระยะปลายทศวรรษที่ 1980 – 1990 ระยะนั้นสถาบันหลักและกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ที่มีบทบาทในการ “กล่อมเกลา” ความนึกคิดร่วมนั้นยังปรากฏอยู่อย่างเด่นชัด ด้วยเพราะ ณ เวลานั้นสถานีโทรทัศน์ก็มีไม่กี่ช่อง …หนังสือพิมพ์หลัก ๆ ก็มีไม่กี่หัว …ค่ายเพลงใหญ่ ๆ ก็นับนิ้วได้ …”ไอดอล” ต้นแบบทั้งในไทยและต่างประเทศก็มิได้หลากหลายนัก …ไม่นับสถาบันหลักทางสังคมอื่น ๆ ที่ยังมีบทบาทเข้มแข็งในการชี้นำทิศทางแก่ผู้คนในสังคม

ขณะเดียวกันความต่างที่เกิดระหว่างคน Gen. X กับยุคก่อนหน้าและยุคหลังที่ตามมาติด ๆ ก็เป็นเพียงความต่างที่เกิดจาก “Contents” ของการกล่อมเกลาทางสังคมที่เปลี่ยนไป แต่โครงสร้างหลักในการสร้างวิธีคิดและวิถีชีวิตร่วมยังคงปรากฏลักษณะรวมศูนย์เหมือนเดิม

แต่ในยุคนี้ที่เข้าสู่ทศวรรษที่สองของศตวรรษที่ 21 อาการ “สภาวะสังคมไร้ศูนย์กลาง” ได้ปรากฏอย่างรอบด้านและเด่นชัดในทุกมิติ …และการถกเถียงพูดคุยในประเด็นนี้ร่วมกับนักศึกษาผมมักจะยกตัวอย่างผ่าน “การเสพบทเพลง”

…คือคนรุ่นผมนั้นแบบแผนการเสพบทเพลงก็จะมักเริ่มต้นจากอิทธิพลของ “สื่อมวลชน” ผ่าน “มิวสิควิดีโอ” ในสถานีโทรทัศน์หรือ MTV รวมถึงผ่าน “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่คอยแนะนำบทเพลงใหม่ ๆ ผ่านโทรทัศน์ (อย่างรายการ “บันเทิงคดี” ของคุณมาโนช พุฒตาล) …ผ่านวิทยุ  (แนวอินดี้ของคุณวาสนา วีระชาติพลี) …หรือผ่านนิตยสาร (อย่าง Music Express) จากนั้นก็เก็บเงิน เดินไปร้าน “Music Store” ที่ขาย Cassette Tape หรือ Music CD เพื่อเอามานอนเสพผ่าน Walkman หรือชุดเครื่องเสียง Combo

…แน่นอนว่า ตัวอย่างข้างต้นมันอาจเป็นลักษณะร่วมของ “เด็กมหา’ลัย” ทั่วไปที่พยายามจะทำตัวเป็น “เด็กแนวที่ไล่ตามเทร็นด์” (ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการไล่ตามกระแสในโลกตะวันตก) แต่อาจมีกลุ่มอื่น ๆ ร่วม Generation ที่อาจชอบเสพเพลงลูกทุ่ง เพลงเพื่อชีวิต และอื่น ๆ …แต่โดยภาพรวมพวกเราก็ยังถูกจัดวางอยู่บนโครงสร้างของกระบวนการกล่อมเกลาที่เหมือนกันและรวมศูนย์ (ขนาดกลุ่มเพลงใต้ดิน ผมว่าก็ยังรวมศูนย์ ไม่ได้แตกต่างหลากหลายเท่าใดนัก) ต่างกันแต่เพียงในเชิง “Contents” ที่แสดงออกผ่านเพลงที่เลือกเสพ และลามไปถึงลักษณะการแต่งตัวและการแสดงออกในทางอื่น ๆ (ในยุคผมแค่เห็นการแต่งตัวและท่าทีบางอย่างก็เดาได้ว่า คนนี้เป็น “เด็กเพื่อชีวิต” หรือคนนี้เป็น “เด็กแนว Pop หวานแหวว” …คือ มันพอจะดูกันออก)

…กรณีการเสพบทเพลง ผมมักจะใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งเพื่อเข้าใจเด็กรุ่นใหม่ ๆ โดยตั้งคำถามในทำนองว่า “ตอนคุณตัดสินใจเลือกฟังเพลง คุณทำอย่างไร?” คำตอบนั้นน่าสนใจมาก ๆ …เพราะคิดกลับไปกลับมา “การตัดสินใจ” ของคนรุ่นนี้มิได้อยู่บนฐานคิดของ “การเลือกซื้อ” เหมือนคนรุ่นผม เด็กรุ่นนี้ไม่ต้องนั่งเก็บสตางค์เพื่อเดินไปซื้อ Cassette Tape ราคา 60 – 100 บาท หรือแผ่น Music CD ราคา 350 – 600 บาท (กว่าจะตัดสินใจก็ต้องกลับไปหารือกับเหล่า “ผู้เชี่ยวชาญ” ทั้งนักจัดรายการโทรทัศน์ ดีเจวิทยุ หรือคอลัมนิสต์ทางนิตยสาร) …หากแต่เขาสามารถ “ลองฟังไปเรื่อย ๆ” ผ่าน YouTube หรือ Spotify หรือช่องทาง Online อื่น ๆ ที่มีอยู่อย่างหลากหลายและระบุสัญชาติหรือแหล่งที่มาไม่ได้ …นั่นคือ “สื่อ” มันหลากหลายจนแทบจะหาความเป็น “มวลชน” ไม่ได้อีกต่อไป

ความ “ไม่เข้าใจ” ของผมมันจึงอาจเกิดจาก “ความหลากหลาย” ที่ปรากฏของเด็กรุ่นใหม่ซึ่งมิได้จำกัดเฉพาะมิติด้านการเสพบทเพลง แต่มันกินความถึงเรื่องวิธีคิด วิถีชีวิต ความนึกคิดที่มีต่อชีวิต ความคาดหวังในอนาคต อาหารการกิน การแต่งตัว การแสดงออกในชั้นเรียน วิธีการให้เหตุให้ผล ฯลฯ

…ชักจะยาวเกินไป …เอาเป็นว่า ตอนนี้ผมเริ่มจะใจชื้นขึ้นมานิดนึง และคิดว่าพอจะคลำทางต่อไปได้ …สรุปว่า หากอยากจะเข้าใจคนรุ่นใหม่ เราต้องเริ่มต้นด้วยการหลีกเลี่ยงการแสวงหาลักษณะร่วมของคนส่วนใหญ่ แต่ต้องนับหนึ่งจากการสังเกตให้เห็นถึงความหลากหลายที่ปรากฏ และค่อย ๆ คลำต่อว่า แรงผลักและพลังขับเคลื่อนให้เกิดสภาวะของความหลากหลายดังกล่าว มันเกิดจากอะไรได้บ้าง

…เรื่องทั้งหมด มันเกิดมาจากนักศึกษาคนหนึ่งที่มักจะชอบมานั่งสนทนากับผมพร้อมกับสูบบุหรี่บริเวณ “คอมมอนร้อน” …นักศึกษาคนนี้มาจากภาคใต้ เป็นลูกหลานคนไทยเชื้อสายจีน …บางวันแต่งตัวเรียบร้อย บางวันแต่งตัวเหมือนฤษี …เป็นคนสุภาพน่ารัก แต่ก็มักตั้งคำถามแรง ๆ และกวนตีนในบางโอกาส …มันสนใจปรัชญาและประวัติศาสตร์ แต่ก็ชอบความน่ารักคิกขุและความทันสมัยในแบบญี่ปุ่น …มันดู Conservative ในบางเรื่อง แต่มันก็ Radical ในหลายเรื่อง …คือมันเป็นอะไรของมันอีกมาก …ผมคิดถึงมัน

Wednesday, August 21, 2019: 10.20@Bangplub

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *