ระยะครึ่งหลังของทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา การเข้ามาของคอมพิวเตอร์ในระดับผู้ใช้ทั่วไปเริ่มจะแพร่หลายมากขึ้น และทักษะการใช้คอมพิวเตอร์และโปรแกรมประยุกต์ต่าง ๆ เริ่มกลายเป็นสิ่งจำเป็น ด้วยเหตุนี้ ความจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องคอมฯ ไว้ประจำบ้านดูจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าราคาโดยรวมในห้วงเวลานั้นจะถือว่าสูงเอาการ
ผมเองก็เติบโตในยุคที่เพื่อนร่วมรุ่นและผู้คนร่วมสมัยต่างพูดถึงความจำเป็นดังกล่าว แต่ด้วยราคาร่วมครึ่งแสนคงมิใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงได้ ผมเองนั้นให้ความสนใจและพอจะมีทักษะการใช้งานพื้นฐานอยู่บ้าง รวมถึงมีโอกาสใช้งานเครื่องของเพื่อนและใน Lab ของทางมหาวิทยาลัย แต่ถึงที่สุดผมก็หาเหตุหาผลให้กับตนเองไม่ได้ว่า ผมจะใช้ประโยชน์จากเครื่องคอมฯ ในด้านใดได้บ้าง
ผมเองพอทราบว่ามันทำอะไรได้มากมาย แต่ในแง่ความต้องการและความจำเป็นส่วนตัวผมยังมองไม่ค่อยเห็นว่า คอมฯ หนึ่งเครื่องจะสามารถสนองตอบความต้องการในชีวิตของผมในด้านใดได้บ้าง หากพิจารณาในแง่การเรียน ผมก็เรียนเฉพาะโปรแกรมประยุกต์สำหรับการวิจัยซึ่งก็สามารถใช้ Lab ของทางมหาวิทยาลัยได้ แต่ในแง่ของการทำงานอื่น ๆ ผมกลับมองไม่เห็นประโยชน์นอกเหนือจากการพิมพ์งานและการเล่นเกมส์ ดังนั้น การลงทุนกว่าครึ่งแสนเพื่อกิจกรรมเพียงแค่นี้คงไม่สมเหตุสมผลเป็นแน่
แต่ในช่วงปีแรก ๆ ของการเรียนปริญญาโทผมก็เริ่มเห็นความจำเป็น ขณะเดียวกันราคาของคอมฯ ก็เริ่มลดลงในระดับที่พอจะยอมรับได้สำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ในระยะแรกของการใช้งานคอมฯ เครื่องแรกในชีวิตก็ต้องยอมรับว่า นอกเหนือจากการใช้พิมพ์งาน การเก็บข้อมูลประกอบการเรียน และการเล่นเกมส์ (Minesweeper และ Solitaire) ผมก็มองไม่เห็นว่าตนเองจะใช้ประโยชน์จากมันในด้านใดได้อีก
การณ์กลับกลายเป็นว่า ผมต้องมานั่งขบคิดทุกวันว่า คอมฯ มันจะทำอะไรได้อีกหรือสร้างประโยชน์อะไรให้แก่ตัวผมมากกว่าการจัดการงานเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ คือ ทราบว่ามันมีอรรถประโยชน์มากมาย แต่ด้วยวิถีชีวิตในห้วงเวลานั้น คอมฯ มันยังเป็นเพียงแค่เครื่องอำนวยความสะดวกบางอย่าง แต่ยังไม่ถึงกับเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานและจัดการกับชีวิตเราในมิติต่าง ๆ เหมือนกับในยุคปัจจุบัน
จำได้ว่า สิ่งแรก ๆ ที่ผมเริ่มทดลองทำเพื่อใช้ประโยชน์จากมันก็คือ การจัดทำฐานข้อมูล Contacts ทั้งที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ และข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ของบรรดาญาติสนิทมิตรสหายโดยการทดลองใช้โปรแกรม Access และหลังจากใช้งานไปได้สักพัก ผมก็เริ่มเห็นปัญหาประการหนึ่งของตนเอง นั่นคือ ผมพิมพ์สัมผัสไม่เป็น …จึงทำให้การพิมพ์งาน และการเก็บข้อมูลมันล่าช้ามาก ทำให้ผมเริ่มคิดต่อว่า หากผมเขียนหนังสือด้วยลายมือเร็วกว่าการพิมพ์ลงเครื่องคอมฯ ฉะนั้นแล้ว ผมจะมีคอมฯ ไปทำ (แพะ) อะไร (เพราะงานหลักที่ผมต้องทำคือเขียนงานส่งอาจารย์)
ในค่ำวันหนึ่ง เพื่อนสนิทผมก็แวะเวียนมาหาและเจ้าเพื่อนคนนี้ก็มีทักษะการพิมพ์สัมผัส ผมจึงปรึกษาว่าผมจะเรียนรู้ทักษะนี้ได้อย่างไร ควรจะไปเรียนที่ไหน เพื่อนผมจึงแนะนำว่า มันไม่ได้ยากอะไร แค่ฝึกวางมือและเรียนรู้การขยับนิ้วที่ถูกต้อง จากนั้นก็เป็นเรื่องการฝึกซ้อมและหัดพิมพ์บ่อย ๆ ก็จะทำให้พิมพ์สัมผัสได้ …แต่ที่ไม่ลืมก็คือคำกล่าวของเพื่อนคนนี้ที่กระตุ้นเตือนพร้อมกับให้กำลังใจผมนั่นคือ
“…ก็เวลามึงเล่นกีตาร์ กูก็ไม่เห็นมึงต้องนั่งดูนิ้วตัวเองว่าจะจับสายไหนอย่างไร พิมพ์สัมผัสก็เหมือนกันนั่นแหละ ฝึก ๆ ไปเดี๋ยวก็ทำได้เอง”
ในช่วงปิดภาคการศึกษา ผมจึงเริ่มต้นฝึกกระบวนท่าการพิมพ์สัมผัสด้วยการพิมพ์คัดลอกหนังสือที่ผมกำลังอ่านอยู่ นั่นคือ “สันติภาพทุกย่างก้าว” ซึ่งเป็นการแปลและรวบรวมข้อเขียนของท่านติช นัท ฮันห์ …ผมจับเอาหนังสือมาหนีบติดกับที่ตั้งสำหรับพิมพ์งานที่อุตส่าห์ซื้อมา แล้วก็ค่อย ๆ นั่งพิมพ์ด้วยการพยายามไม่เหลือบดูนิ้วตนเอง แต่อาศัยการพิมพ์ไปเรื่อย ๆ หากพิมพ์ผิดมันก็แสดงความผิดพลาดบนหน้าจอ เราก็ขยับนิ้วแก้ไขกันไป นี่ก็นับว่าเป็นข้อดีของคอมฯ ที่เราสามารถพิมพ์ผิดพลาดและแก้ไขได้ตลอดเวลา ต่างจากเครื่องพิมพ์ดีด
หัดพิมพ์ผ่านการคัดลอกหนังสือไปได้ประมาณครึ่งเล่ม (ปัจจุบันไฟล์ที่ผมคัดลอกไว้ก็ยังคงเก็บไว้อยู่) ก็เริ่มคิดว่า ผมน่าจะลองหัดพิมพ์ผ่านการบันทึก Diary หรือทดลองถ่ายทอดเรื่องราวบางอย่างที่มันอยู่ในหัวออกมาแทนการนั่งเหลือบมองหนังสือสลับกับการจ้องมองหน้าจอมอนิเตอร์ …และจากการคิดเช่นนี้เอง นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ผมกลายเป็นคนจดบันทึกประจำวันอย่างจริงจังและต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ มันเป็นจุดเริ่มต้นของการ “หัดเขียนหนังสือ” ในความหมายว่า ผมเริ่มจะหัดผูกเรื่อง เอาข้อความคิดบางอย่างที่อยู่ในหัวตนเอง และค่อย ๆ ฝึกผูกประโยคเพื่อเขียนออกมาเป็นเรียงความขนาดยาว เรื่องที่เขียนจึงมีทั้งการเอาข้อสังเกตหรือสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวันมาเล่าเรียง เอาเรื่องราวในวัยเด็กมาบันทึกเก็บไว้ เอาข้อความคิดจากการอ่านงานวิชาการต่าง ๆ มาสรุปย่อและต่อเติมด้วยความเห็นตนเอง …ยิ่งเขียนก็ยิ่งสนุก ผมจึงนั่งบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ แทบจะทุกวัน
…จากการเริ่มต้นหัดพิมพ์สัมผัส มันกลับนำไปสู่การพัฒนาทักษะในการเขียนหนังสือของผมให้ดีขึ้นอย่างมาก เป็นการรื้อฟื้นความสามารถในการเขียนเรียงความภาษาไทยยุคสมัยประถมซึ่งถูกทำลายโดยสิ้นเชิงในช่วงเรียนมัธยมตามประสาเด็กที่ถูกขุนมาในสายวิทยาศาสตร์ (สมัยเรียนมหาวิทยาลัยปีหนึ่ง อาจารย์ภาษาไทยให้เขียนประวัติตนเองหนึ่งหน้ากระดาษ ผมกลับเขียนได้ไม่ถึงครึ่งหน้า แค่เขียนว่าตนเองชื่ออะไร บ้านเกิดอยู่ที่ไหน เรียนจบโรงเรียนอะไร ฯลฯ เหมือนกรอกประวัติส่วนตัวลงแบบฟอร์ม แต่ผูกประโยคอะไรไม่เป็นเลยสักนิดเดียว) …จริง ๆ จนถึงวันนี้ผมเองก็ไม่ได้เก่งกาจในทักษะการเขียนและการใช้ภาษาได้อย่างสละสลวยเหมือนกับคนที่เค้าเก่งภาษา แต่การฝึกปรือในห้วงเวลานั้นก็นับว่าช่วยผมปรับปรุงทักษะด้านนี้ให้ดีขึ้นไม่น้อยทีเดียว และเหนือสิ่งอื่นใด มันได้กลายเป็นทักษะสำคัญที่ผมใช้ทำมาหากินจวบจนปัจจุบัน
Thursday, August 15, 2019: 18.30@Bangplub
ชอบครับ ติดตามครับ
ขอบคุณครับ…จะพยายามเขียนไปเรื่อย ๆ