ชาต้นใหม่ Sunday, December 2, 2007 7:04:11 PM

มีช่วงหนึ่งของชีวิตที่ผมเคยละทิ้งความฝันและทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อกลับไปใช้ชีวิตอย่างสงบ ณ บ้านเกิด …แม้นที่สุดแล้ว ความตั้งใจดังกล่าวจะล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่ห้วงเวลาของการ “ฝังตัว” ครั้งนั้น ก็ทำให้ผมมองเห็นถึงวัฒนธรรมที่มีความเข้มแข็งยิ่งในหมู่คนไทยเชื้อสายจีน นั่นคือ การตั้งวงดื่มน้ำชา

ในเบื้องแรกของการกลับไปบ้านเกิดนั้น ผมซึ่งคุ้นชินกับชีวิตในเมืองหลวงมานานจำต้องปรับตัวอย่างขนานใหญ่ เนื่องจากกลุ่มเพื่อนผู้คนที่เราคุ้นเคย ที่เราจะพูดคุยได้ หรือที่เรารู้สึกถึงอัตลักษณ์ร่วมนั้นไม่มีอีกต่อไป …ความรู้สึกโดดเดี่ยวในบ้านเกิดตัวเอง ก็ค่อยๆ บีบบังคับมนุษย์ธรรมดาอย่างผมให้รู้จักการปรับตัว และสร้าง “มิตรใหม่” (new circle) รอบๆ ตัวขึ้นอีกครั้ง …บุคคลกลุ่มแรกที่ผมกระโจนเข้าหาเพื่อทำลายความเปลี่ยวเหงาในชีวิตก็คือ วงน้ำชา ซึ่งมีฐานที่มั่น ณ บ้านผมนั่นเอง

อันที่จริงแล้ว วงน้ำชา ประจำบ้านผมนั้นถือเป็นสิ่งปกติธรรมดาที่ชินตามาตั้งแต่เด็ก ราวกับว่ามันเป็นส่วนหนึ่ง เป็นองค์ประกอบหนึ่งของบ้านเราเลยทีเดียว …แต่ด้วยวัยที่ยังเด็ก หรือกระทั่งตอนวัยรุ่น ผมไม่เคยรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของ “ชุมชนเล็กๆ” ดังกล่าวเลย หากแต่มองว่ามันเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เป็นสังคมของผู้ใหญ่ อีกทั้ง “ชาจีน” มันจะมีรสชาติดึงดูดใจไปกว่าน้ำอัดลมสีสันสดใสได้อย่างไร

กลุ่มคนที่แวะเวียนกันมาตั้งวงน้ำชา โดยมากก็ได้แก่กลุ่มญาติสนิทมิตรสหายของพ่อผมนั่นเอง หากจะมี “ขาจร” หลงเข้ามา คนภายในวงน้ำชาก็ยินดีต้อนรับมิตรใหม่ด้วยชาร้อนๆ ส่งกลิ่นหอมในจอกใบเล็กๆ เสมอ …แม้นว่า วงน้ำชาดังกล่าวจะมิได้มีระเบียบการหรือข้อบังคับสมาชิกภาพเป็นลายลักษณ์ แต่เหล่าสมาชิกประจำก็ดูจะรู้หน้าที่ความรับผิดชอบของตนเป็นอย่างดี …การลวกป้านและจอกด้วยน้ำร้อน การเปลี่ยนใบชา การรินน้ำชา หรือการเสิร์ฟชา เหล่านี้ได้ถูกจัดสรรแบ่งส่วนหน้าที่อย่างเป็นระบบระเบียบ …แม้ในยามที่พ่อผมไม่อยู่บ้าน กิจกรรมวงน้ำชาก็ยังคงดำเนินไปตามปกติ ดำเนินไปทุกเมื่อเชื่อวัน วันละสองรอบ (รอบสาย และรอบบ่าย)

หลังจากกระทำตัวเป็น “ผู้สังเกตการณ์” ได้พักใหญ่ ผมก็ค่อยๆ ถูกดึงดูดเข้าไปสู่ “วงการ” โดยตั้งต้นจากการทำหน้าที่เป็น “เด็กเติมน้ำร้อน” …พอเริ่มคุ้นเคยและหยิบจับอุปกรณ์ได้คล่องมือ จึงพัฒนาไปสู่หน้าที่ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญมากขึ้น

ในระยะของการทำตัวเป็น “สมาชิกสมทบ” นั้นเอง ผมได้เริ่มเรียนรู้และซึมซับศิลปะ ตลอดจนวิธีการเตรียมน้ำชาจากเหล่า “จอมยุทธ์” ทั้งหลายโดยไม่รู้ตัว …แต่ที่สำคัญ …ทีละเล็ก ทีละน้อย คนซึ่งติดในรสกาแฟอย่างผมก็ค่อยๆ หันเหมาชมชอบในรสชาติของ “ชาจีน” มากขึ้น

…ท้ายที่สุด ในวันหนึ่งซึ่งพ่อไม่อยู่บ้าน ผมก็สบโอกาสที่จะแสดงฝีมือในการเตรียมน้ำชาตั้งแต่ต้นจนจบ …หัวใจสำคัญที่ผมเรียนรู้จากเหล่าจอมยุทธ์ผู้มากประสบการณ์ก็คือ “ทุกอย่างต้องร้อน” …น้ำร้อนจึงถูกเทอย่างไม่เสียดายลงไปภายในป้านชาจนทะลักออกมา และยกป้านขึ้นเทลงไปในจอกเล็กๆ จนปริ่มล้น ยกจอกใบหนึ่งขึ้นวางตะแคงบนจอกอีกใบหนึ่งและค่อยๆ หมุนวนเพื่อทำความสะอาด และเวียนทำซ้ำจนครบทุกๆ จอก …จากนั้นจึงคว่ำลงบนถาดและยกออกไปเตรียมไว้ ส่วนป้านที่ยังอุ่นๆ นั้นก็ถึงเวลาสำหรับบรรจุใบชา ต่อด้วยการรินน้ำร้อนลงไปภายในป้าน…ปิดฝา…และรินทิ้งอย่างรวดเร็วเพื่อ “ปลุก” ใบชาที่งอม้วนให้คลี่คลายตัวเองออกมา พร้อมๆ กับเป็นการกำจัดฝุ่นผงหรือเศษแตกหักของใบชาออกไป

…และช่วง “วัดฝีมือ” จริงๆ ก็เริ่มขึ้น เริ่มจากการหงายจอกขึ้นเรียงชิดติดกัน และเติมน้ำร้อนลงไปในป้านอีกครั้งพร้อมกับคำนวณระยะเวลาให้แม่นยำ จากนั้นก็ใช้นิ้วกลางและนิ้วนางเกี่ยวหูของป้านชาขึ้นมา ขณะที่นิ้วโป้งนั้นจะต้องกดลงไปบนปุ่มกลมที่มีรูตรงกลางบนฝาป้านซึ่งทำหน้าที่เป็น “วาล์วปิด-เปิดน้ำ” …ในการรินน้ำชา ก็จะต้องตะแคงป้านลง พร้อมกับคลายนิ้วโป้งเพื่อ “เปิดวาล์ว” และหมุนวนอย่างรวดเร็วสลับไปมาขณะที่น้ำชาไหลลงจอก เพื่อให้น้ำชานั้นมีความเข้มข้นสม่ำเสมอกันในทุกๆ จอก…

ภายหลังจากได้อวดฝีมือหลายต่อหลายครั้ง ผมก็ค่อยๆ เปลี่ยนสถานะจากคนวงนอกเข้าสู่ยุทธจักรวงน้ำชาอย่างเต็มตัว และในวันหนึ่งขณะที่ผมกำลังเตรียมน้ำชาอยู่นั้น ผู้อาวุโสแห่งวงน้ำชา ซึ่งเป็นเจ้าของ “วงน้ำชารอบค่ำ” ประจำชุมชนมาช้านานก็ได้เอ่ยประโยคหนึ่งขึ้นมาเป็นภาษาจีน พูดจบก็ถอดความเป็นภาษาไทยให้ผมได้เข้าใจ ว่า…

“ชาต้นใหม่ ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว”

ประโยคดังกล่าว จึงเปรียบเสมือนกับคำรับรองความเป็น “สมาชิกถาวร” ของวงน้ำชาแห่งนี้นั่นเอง …ความรู้สึกในตอนนั้นจึงไม่ต่างจากการที่ผมสามารถผ่านด่านอรหันต์มนุษย์ทองคำ และเข้าสู่พิธีกรรมสุดท้าย โดยการเอาท่อนแขนด้านบนนาบไปบนกระถางธูปยักษ์ร้อนๆ เพื่อรับตราประทับความเป็นผู้สำเร็จวิชาแห่งวัดเส้าหลิน

=================

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *